รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 4, 2016 15:37 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2559

ประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นฯจากปัญหาภัยแล้งและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2559 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,440 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 36.0 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่มีค่า 38.1 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 29.8 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 32.0 อีกทั้ง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 40.0 ก็ปรับลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 42.2 โดยค่าดัชนีปรับลดลงทุกรายการ อีกทั้ง ยังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว กอปรกับปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและต้นทุนการเกษตรที่ปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช จากข้าวนาปรังและพืชที่ใช้น้ำมาก มาเป็นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย พร้อมกันนี้ หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ต่างๆที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค อีกทั้ง รัฐบาลได้ส่งเสริม การลงทุน/การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพักชำระหนี้และการชดเชยการสูญเสียรายได้ของเกษตรกร ส่วนราคาน้ำมันขายปลีกหลายรายการปรับเพิ่มขึ้น ยกเว้นราคาก๊าซ NGV ที่ปรับลดลง 0.03 บาทต่อกิโลกรัม มาอยู่ที่ 13.47 บาทต่อกิโลกรัม

          ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 45.5 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่  47.7 อีกทั้ง ดัชนียังอยู่ภายใต้ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยัง ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต ด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันปรับลดลง แต่ยังอยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่นฯ การวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีมาตรการกระตุ้น           การใช้จ่ายและมีการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการขึ้นภาษีสรรพสามิต กอปรกับปัญหาภัยแล้งและเศรษฐกิจโลกมีทิศทางการชะลอตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ               ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     35.4     36.2     37.6     37.2     36.4     38.1     36.0

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                            ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     28.4     27.7     29.6     30.1     30.9     32.0     29.8
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     40.0     42.0     42.9     42.0     40.0     42.2     40.0

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                        ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     45.9     48.3     49.2     47.8     45.1     47.7     45.5

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                    22.3     21.4     23.8     24.2     25.4     26.9     25.0
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     27.5     27.6     29.2     29.3     28.7     31.0     28.7

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        52.9     53.8     54.4     56.0     55.3     53.0     51.2
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         12.7     13.0     13.0     14.6     12.8     13.3     12.1
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       19.7     19.7     20.6     20.8     19.5     21.6     20.7
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2559 ภาคที่ปรับตัวลดลง คือ ภาคกลาง จาก 43.0 เป็น 41.5 ภาคเหนือ จาก 39.6 เป็น 36.2 ภาคตะวันออก จาก 33.4 เป็น 30.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 41.5 เป็น 37.9 และภาคใต้จาก 30.4 เป็น 25.5 ส่วนภาคที่ปรับเพิ่มขึ้น คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 37.2 เป็น 39.2 ทั้งนี้ ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังกังวลและยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก ปัญหาภัยแล้ง ประชาชนได้รับ ความเดือดร้อนปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค แต่ทั้งนี้ รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้เร่งเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ส่วนสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีอย่างต่อเนื่องซึ่งสร้างความเดือดร้อนและความสูญเสียแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบริโภคที่จำเป็นให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน

2. แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะ ข้าวและยางพารา

3. ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าการเกษตรให้ครบวงจรเพื่อความยั่งยืนและมั่นคงของชุมชน

4. แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน กิจการหลายแห่งเริ่มปรับลดพนักงานเพื่อความอยู่รอดของบริษัท

5. เร่งรัดการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

6. ออกนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว ดีกว่าการออกนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

7. กระตุ้นเงินลงทุนเข้าสู่หมู่บ้านและแหล่งชุมชน

8. แก้ไขปัญหาด้านต้นทุนการผลิต

ด้านสังคม

1. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของภาครัฐควบคู่กับการเร่งปราบปรามปัญหายาเสพติด การทุจริตและคอรัปชั่น

2. หามาตรการรองรับปัญหาการว่างงาน แก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในระดับรากหญ้า

3. ดูแลหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

4. แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

5. ปฏิรูประบบการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพ

6. แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมในชุมชนเมืองพร้อมไปกับการพัฒนาสังคมในชนบทให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานเข้ามากระจุกตัวในเมืองมากเกินไป

7. ทำฝนเทียมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมทั้ง แก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ

8. ดูแลสวัสดิการและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ

9. ให้ความรู้และส่งเสริมด้านเกษตรกรอินทรีย์แบบครบวงจร รวมทั้ง วางแผนการปลูกพืชเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ