รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 13, 2016 16:26 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2559

ภัยแล้งคลี่คลาย การเมืองมีความชัดเจน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2559 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,527 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 38.9 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2559 ที่มีค่า 33.8 โดยปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 33.8 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 27.3 รวมทั้ง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต(3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 42.2 ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 38.0 ซึ่งค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้นทุกรายการ หากแต่ยังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่มีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ที่มีรายได้น้อย อีกทั้ง ผลการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้มีความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนภาคการท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยลบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ภาคการผลิตและภาคแรงงานได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง การปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกหลายรายการ ความแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน รวมทั้ง เหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้ใน 7 จังหวัดภาคใต้ ระหว่างวันที่ 11 - 12 สิงหาคม ที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยรัฐบาลได้ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวและประชาชน

ทั้งนี้ ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 46.8 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 44.2 และปรับสูงสุดในรอบ 6 เดือน จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย กอปรกับมาตรการต่างๆของรัฐบาลที่ช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยตามแนวทางประชารัฐ ส่วนการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่ทั้งนี้ ตัวเลขการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 52.5 ปรับลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาแต่ยังคงอยู่ในระดับที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ                 ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59   ก.ค.59   ส.ค.59
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม       38.1     36.0      35.8     35.5     35.1     33.8     38.9

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                              ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59   ก.ค.59   ส.ค.59
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน       32.0     29.8      29.9     29.9     29.1     27.3     33.8
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต       42.2     40.0      39.7     39.3     39.1     38.0     42.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                          ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59   ก.ค.59   ส.ค.59
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)       47.7     45.5      44.2     44.1     43.9     44.2     46.8

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                      ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59   ก.ค.59   ส.ค.59
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                      26.9     25.0      25.2     25.3     23.5     21.4     28.6
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)       31.0     28.7      29.5     30.2     28.2     26.1     32.8

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                        ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59   ก.ค.59   ส.ค.59
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน             53.0     51.2      56.8     55.4     55.4     52.8     52.5
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า              13.3     12.1      13.9     11.9     13.2     13.0     15.5
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ        21.6     20.7      22.2     22.4     22.0     19.6     23.2
(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2559 เกือบทุกภาคปรับเพิ่มขึ้น ดังนี้ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 33.8 เป็น 46.3 ภาคกลาง จาก 42.0 เป็น 43.4 ภาคเหนือ จาก 36.3 เป็น 41.9 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 31.7 เป็น 35.6 และภาคใต้ จาก 24.3 เป็น 26.7 ยกเว้น ภาคตะวันออก ที่ปรับลดลง จาก 35.8 เป็น 35.1 แต่ทั้งนี้ ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย แต่เนื่องจากหลายพื้นที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน เกิดน้ำท่วม ประชาชนได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย อีกทั้ง ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้ง สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังเกิดเหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้ใน 7 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลค่าครองชีพ ราคาอาหารปรุงสำเร็จและสินค้าอุปโภคบริโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน

2. แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง

3. ส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรในการวางแผนเพาะปลูกที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้สินค้าล้นตลาด

4. ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเสริมสร้างศักยภาพต่างๆเพื่อดึงดูดนักลงทุน

5. สนับสนุนและยกระดับสินค้าโอทอปให้มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชน

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น ดูแลโครงการเบิกจ่ายงบประมาณในแต่ละท้องถิ่นให้ทั่วถึง รวมทั้ง มีมาตรการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

2. ปราบปรามปัญหายาเสพติด เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมและการกระทำผิดของเยาวชน

3. แก้ไขปัญหาความยากจน หนี้นอกระบบ/หนี้ภาคครัวเรือน ส่งเสริมการมีงานทำในชุมชนต่างๆ

4. แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

5. ดูแล/แก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ