รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 1, 2016 15:03 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2559

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2559

สถานการณ์น้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวดีขึ้น

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2559 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,470 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 36.4 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2559 ที่มีค่า 36.2 รวมทั้ง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 41.1 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 40.5 ส่วนค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 29.4 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 29.7 ทั้งนี้ ค่าดัชนี ทุกรายการยังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่มีความคาดหวังว่าจะได้รับอานิสงค์จากการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีที่สามารถเข้ามาพยุงให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและมีเงินหมุนเวียนในระบบจากการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมทั้ง สถานการณ์น้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังเกิดภัยแล้งและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ได้คลี่คลายลง แม้ว่าบางแห่งยังได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง กอปรกับทิศทางการส่งออกของไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้น และราคายางพาราปรับดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำยางไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ด้านปัจจัยลบมาจาก ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะข้าวและข้าวโพด ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือภาคการเกษตรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว

ทั้งนี้ ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 46.5 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 44.5 โดยคาดหวังว่าฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปีจะมีเงินสะพัดจากการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ยังมีปัจจัยลบจากการที่ผู้ประกอบการบางส่วนที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ได้ปรับลดต้นทุนต่างๆ อีกทั้ง ในภาคการเกษตรก็ประสบปัญหาสินค้าเกษตรไม่มี ตลาดรองรับและถูกกดราคาจากผู้รับซื้อ รวมทั้งความกังวลต่อปัจจัยต่างๆ อีกทั้ง หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีปัจจัยบวกจากตัวเลขการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 54.9 ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่ระดับ 52.9

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               เม.ย. 59   พ.ค. 59   มิ.ย. 59   ก.ค. 59  ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม       35.8      35.5      35.1      33.8     38.9      36.2      36.4

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                            เม.ย. 59   พ.ค. 59   มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน       29.9      29.9      29.1      27.3      33.8      29.7      29.4
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต       39.7      39.3      39.1      38.0      42.2      40.5      41.1

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                        เม.ย. 59   พ.ค. 59   มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)       44.2      44.1      43.9      44.2      46.8      44.5      46.5

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    เม.ย. 59   พ.ค. 59   มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                      25.2      25.3      23.5      21.4      28.6      24.0      24.0
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)       29.5      30.2      28.2      26.1      32.3      31.0      29.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                   เม.ย. 59   พ.ค. 59   มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน          56.8      55.4      55.4      52.8      52.5      52.9      54.9
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า           13.9      11.9      13.2      13.0      15.5      14.0      12.4
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน         22.2      22.4      22.0      19.6      23.2      20.8      18.4
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2559 ภาคที่ปรับเพิ่มขึ้น ดังนี้ ภาคกลาง จาก 39.2 เป็น 41.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 35.1 เป็น 37.2 และภาคใต้ จาก 26.3 เป็น 27.9 ภาคที่ปรับลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 39.4 เป็น 37.2 ภาคตะวันออก จาก 38.6 เป็น 35.4 ส่วนภาคเหนือ มีค่าดัชนีเท่ากับเดือนที่ผ่านมา คือ 37.8 แต่ทั้งนี้ ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ จากปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำของรายได้และสังคม ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เกษตรกรส่วนใหญ่มีแนวโน้มของหนี้ภาคครัวเรือนสะสมมากขึ้นจากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำ รวมทั้งปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาปากท้อง ราคาสินค้าที่จำเป็นปรับสูงขึ้น ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เงินออมลดลง คุณภาพชีวิตลดลง

2. ลดการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน จากผู้ประกอบการรายย่อยและ SMEs

3. เร่งแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และต้นทุนการผลิตสูง

4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นการส่งออก

5. ส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

6. หาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้ง ร้านค้ารายย่อยและร้านค้าปลีก พร้อมหามาตรการป้องกัน การผูกขาดของผู้ประกอบการรายใหญ่

7. สร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจชุมชน สนับสนุนให้มีการสร้างอาชีพที่ยังยืน

ด้านสังคม

1. ป้องกัน/ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น

2. ปราบปรามยาเสพติด ลดปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคม

3. แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดการลงทุนและนักท่องเที่ยวมีความมั่นใจมากขึ้น

4. บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

5. แก้ไขปัญหาความยากจน หนี้นอกระบบ/หนี้ภาคครัวเรือน และความเหลื่อมล้ำในสังคม

6. เร่งรัดพัฒนาระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จัดอบรมให้กับกลุ่มเยาวชนและผู้ว่างงานเพื่อให้มีรายได้

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ