รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 4, 2017 15:29 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2559

ความเชื่อมั่นฯ สูงสุดในรอบ 21 เดือน จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2559 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,412 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯมีค่า 39.1 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่มีค่า 35.7 และมีค่าสูงสุดในรอบ 21 เดือน ส่วนค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 32.6 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 28.4 รวมทั้ง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 43.5 ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 40.6 โดยค่าดัชนีทุกรายการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งมีปัจจัยบวกมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัว ราคาข้าวเปลือกปรับตัวดีขึ้น มีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทั้ง ราคายางพาราก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่งผลดีต่อชาวสวนยางทั้งประเทศ กอปรกับการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2559 ทำให้มีเงินสะพัดและหมุนเวียนในระบบจากการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ค่าดัชนีทุกรายการยังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำของรายได้และสังคมที่สะสมมานาน ปัญหาเรื้อรังของหนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพที่ไม่สอดคล้องกับรายได้ ซึ่งในเดือนนี้ราคาน้ำมันขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหลายจังหวัดในภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง เกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ บ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

ทั้งนี้ ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 49.7 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 46.4 โดยมีปัจจัยบวกมาจากการปรับขึ้นค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำใน 69 จังหวัด ที่จะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2560 อีกทั้ง รายได้ของชาวนาและชาวสวนยางปรับตัวดีขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวและยางพารา แต่ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้และความเป็นอยู่ ส่งผลให้การวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่มี ความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ตัวเลขการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 54.2 เท่ากับเดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมีแนวโน้มคงตัวแต่ยังอยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม      35.1      33.8      38.9      36.2      36.4      35.7      39.1

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ                            มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน      29.1      27.3      33.8      29.7      29.4      28.4      32.6
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต      39.1      38.0      42.2      40.5      41.1      40.6      43.5

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                        มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      43.9      44.2      46.8      44.5      46.5      46.4      49.7

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                     23.5      21.4      28.6      24.0      24.0      22.9      25.7
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      28.2      26.1      32.3      31.0      29.2      28.1      29.5

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                   มิ.ย. 59   ก.ค. 59   ส.ค. 59   ก.ย. 59   ต.ค. 59   พ.ย. 59   ธ.ค. 59
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน         55.4       52.8     52.5      52.9      54.9      54.2      54.2
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า          13.2       13.0     15.5      14.0      12.4      12.0      12.6
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน        22.0       19.6     23.2      20.8      18.4      18.0      19.0
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2559 ปรับเพิ่มขึ้นทุกภาค ดังนี้ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 38.3 เป็น 42.6 ภาคกลาง จาก 42.0 เป็น 42.2 ภาคเหนือ จาก 38.1 เป็น 39.1 ภาคตะวันออก จาก 34.5 เป็น 37.4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 31.8 เป็น 39.4 และภาคใต้ จาก 29.1 เป็น 31.6 เนื่องจากราคาข้าวปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้ของชาวนา และราคายางพาราปรับตัวดีขึ้น จากความต้องการที่มีมากขึ้น แต่ปริมาณยางเข้าสู่ตลาดน้อยลง กอปรกับมีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ แต่ทั้งนี้ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ โดยภาคใต้ มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ในหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ และรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย

2. เปิดจุดจำหน่ายข้าวและช่องทางการค้าขายโดยตรงระหว่างชาวนากับผู้บริโภค เพื่อสร้างความเข้มแข็งและมั่นคง

3. ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และร้านค้าปลีกขนาดเล็กให้สามารถปรับตัวและอยู่รอดได้

4. ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

5. กระตุ้นการส่งออกเพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น

6. ขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างงาน

7. พยุงราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

ด้านสังคม

1. ป้องกันปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น

2. ปราบปรามการแพร่ระบาดของยาเสพติด เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคม

3. ส่งเสริมให้เกิดความรักและสามัคคีในชาติให้มากขึ้น

4. แก้ไขปัญหาความไม่สงบและลดความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

5. จัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาล/สถานพยาบาล ในส่วนท้องถิ่น

6. หาแนวทางพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้กับคนในชุมชน สร้างระบบสาธารณูปโภคให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

7. แก้ไขปัญหาความยากจน หนี้นอกระบบ/หนี้ภาคครัวเรือน และความเหลื่อมล้ำในสังคม

8. ปรับปรุง/พัฒนาระบบการศึกษาของทุกระดับชั้น

9. จัดฝึกอบรมความรู้พัฒนาฝีมือแรงงานกลุ่มเยาวชนที่ว่างงาน ให้มีงานทำและรายได้ในเพื่อลดปัญหาสังคม

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ