ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 1, 2018 13:44 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายน 2561 เท่ากับ 101.57 เมื่อเทียบกับ

          ระยะเวลา                    การเปลี่ยนแปลง   ร้อยละ
          1. เดือนมีนาคม 2561 (MoM)         สูงขึ้น        0.45
          2. เดือนเมษายน 2560 (YoY)        สูงขึ้น        1.07
          3. เฉลี่ย 4 เดือน 2561 (AoA)       สูงขึ้น        0.75

(ม.ค. - เม.ย. 2561) /(ม.ค. - เม.ย. 2560)

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2561 เทียบกับเดือนเมษายน 2560 เพิ่มขึ้น +1.07% (YoY) เป็นการขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน และอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อ 0.7 - 1.7 สาเหตุจากการสูงขึ้นของกลุ่มพลังงาน ร้อยละ +4.69 จากน้ำมันขายปลีกเชื้อเพลิง ร้อยละ +3.90 รวมทั้งการสูงขึ้นของกลุ่มอาหารสด ร้อยละ +0.49 จากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตเสียหายโดยเฉพาะผักสด สูงขึ้นร้อยละ +6.82 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไป 4 เดือนแรกสูงขึ้นร้อยละ 0.75 และเงินเฟ้อพื้นฐานก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ +0.62

1. ระดับราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนเมษายน 2561 สูงขึ้นจาก เดือนมีนาคม 2561 ร้อยละ 0.45 (MoM) (มีนาคม 2561 ลดลงร้อยละ -0.09) มีรายละเอียด ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.78 จากการสูงขึ้นของกลุ่มอาหารสด ร้อยละ 1.80 ได้แก่ ไก่สด เนื้อสุกร ไข่ไก่ เนื่องจากมีความต้องการมากในช่วงเทศกาล รวมทั้งราคาข้าวสารเจ้า ปรับสูงขึ้น ร้อยละ 1.84 จากความต้องการตลาดต่างประเทศมีเพิ่มขึ้น และการสูงขึ้นของผักสดและผลไม้ ร้อยละ 3.43 เนื่องจากอากาศแปรปรวน ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง (มะนาว แตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว กะหล่ำดอก) ขณะที่ เครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ -0.64 (น้ำตาลทราย น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะขามเปียก)

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.26 จากน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 1.90 เป็นการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง ทุกชนิด รวมทั้งก๊าซรถยนต์ ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารสูงขึ้นร้อยละ 0.59 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.01 (เสื้อผ้าเด็ก) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 0.11 (ค่าเช่าบ้าน ค่าแรงช่างทาสี ก๊าซหุงต้ม ผงซักฟอก) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.02 (ยาแก้ไอ ค่าถอนฟัน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.02 (เบียร์) ขณะที่ของใช้ส่วนบุคคล ปรับลดลงร้อยละ -0.02 ได้แก่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน น้ำยาระงับกลิ่นกาย โฟมล้างหน้า และผ้าอ้อมสำเร็จรูป (แพมเพิส) เป็นต้น

2. เทียบเดือนเมษายน 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.07 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวด ดังนี้

สาเหตุจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.68 จากผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.48 ได้แก่ ผักสด ร้อยละ 6.82 (มะนาว หัวผักกาดขาว คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง แตงกวา ผักกาดขาว มะเขือเทศ ต้นหอม และกะหล่ำปลี) และผลไม้ ร้อยละ 0.53 (ทุเรียน เงาะ ลองกอง ลำไย) หมวดข้าว ร้อยละ 1.62 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.30 (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน) อาหารบริโภค- ในบ้าน ร้อยละ 1.24 (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว) และอาหารบริโภค-นอกบ้าน ร้อยละ 0.95 (อาหารเช้า ข้าวราดแกง อาหารเย็นตามสั่ง) ขณะที่มีสินค้าบางรายการที่มีราคาลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด ปลาช่อน ปลาทับทิม ไข่ไก่ หัวหอมแดง และกระเทียม เป็นต้น

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.31 จากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 5.98 (บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สุรา) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา สูงขึ้นร้อยละ 0.46 (ค่าทัศนาจรต่างประเทศ) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 1.50 (ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) น้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 3.90 (เบนซิน 95 ดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 E85 ก๊าซ NGV) และหมวดการตรวจรักษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.49 (ค่ายา ค่าทำฟัน) ขณะที่มีสินค้าและบริการบางรายการที่มีราคาลดลง ได้แก่ ก๊าซยานพาหนะ LPG เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต อาหารสัตว์เลี้ยง)

3. เฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.- เม.ย. 2561) เทียบกับ (ม.ค.-เม.ย.2560) (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.75 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวด ดังนี้

สาเหตุจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.20 ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ร้อยละ 0.62 ผักสด ร้อยละ 6.16 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.19 อาหารบริโภค-ในบ้าน และอาหารบริโภค-นอกบ้าน ร้อยละ 1.23 และ 0.91 ตามลำดับ ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลงได้แก่ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ -1.35 ไข่ ร้อยละ -6.07 ผลไม้สด ร้อยละ -1.15 และเครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ -1.71

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.06 จากหมวดเคหสถานสูงขึ้นร้อยละ 1.39 (ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.42 (ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล) หมวดพาหนะการขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.85 (น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.53 (ค่าทัศนาจรต่างประเทศ) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 5.95 (บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สุรา) ส่วนหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า โดยเฉลี่ยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

4. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2561

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.7 - 1.7 (YoY)

GDPf 3.6 - 4.6 (YoY)

Dubai Oilf 55 - 65 USD/Barrel

Exchange Ratef 32.0 - 34.0 Baht/USD

สถานการณ์และปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเงินเฟ้อ

อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัว ตามผลผลิตและรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ปี 2561 อาจส่งผลดีต่อกำลังซื้อในประเทศ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคใน 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ การใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2561

การส่งออกที่มีการขยายตัวเป็นลำดับจากการฟื้นตัวของการค้าโลก รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก การแข็งค่าของเงินบาท

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแม้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังมีความผันผวน

การลงทุนภาครัฐอาจมีขั้นตอนที่อาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนทั้งหมด

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ