ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 1, 2018 13:45 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2561 (ปี 2553 = 100) มีค่าเท่ากับ 102.0 (เดือนมีนาคม 2561 เท่ากับ 101.6)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เดือนเมษายน 2561 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมีนาคม 2561 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.4 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนมีนาคม 2561 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 0.4 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด) เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาจส่งผลต่ออุปทานน้ำมันดิบปรับลดลง เม็ดพลาสติก ราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ ตามภาวะตลาดโลก สินค้าที่ราคาลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.3 สินค้าสำคัญที่ ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ ปรับตามภาวะตลาดโลก ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.2 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด ปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มอยู่ในเกณฑ์สูง ยางพารา จากสต็อกยางของจีนที่ยังมีมาก ผลไม้ (สับปะรดโรงงาน สับปะรดบริโภค กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ มะม่วง) เป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้บางชนิดที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และกุ้งแวนนาไม ความต้องการของตลาดชะลอตัว สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการของตลาดและผู้ประกอบการส่งออกยังต้องการเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้า พืชผัก (มะนาว กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดหอม ต้นหอม ผักกาดหัว ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก) สภาพอากาศร้อนทำให้พืชผักบางชนิดเสียหาย สุกรมีชีวิต จากสภาพอากาศร้อนจัดส่งผลให้สุกรโตช้า น้ำหนักไม่ได้ตามเกณฑ์

2.2 เดือนเมษายน 2560 (YoY) ลดลง ร้อยละ 0.8 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบกับเดือนเมษายน 2560 ลดลงร้อยละ 0.8 สาเหตุจากดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 3.7 จากกลุ่มสินค้าผลผลิตการเกษตร (ร้อยละ -3.5) สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ -6.5) ปลาและสัตว์น้ำ (ร้อยละ -1.6) ขณะที่สินค้าบางรายการราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หัวมันสำปะหลังสด อาหารทะเล (ปลาทูสด ปลาลัง ปลาอินทรี ปลากะพง ปลาจาระเม็ด กุ้งทะเล หอยแครง) และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.5 จากสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ (ร้อยละ -0.5) สิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (ร้อยละ -0.3) ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ร้อยละ -1.5) ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ร้อยละ -6.6) เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ -2.7) สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ (ร้อยละ -1.5) และสินค้าสำคัญที่ปรับราคาสูงขึ้น ได้แก่ เยื่อกระดาษ น้ำมันเชื้อเพลิง เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สำหรับหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 3.3 จากสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ 4.1) ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าชธรรมชาติ

2.3 เทียบเฉลี่ยเดือน ม.ค. – เม.ย. ปี 2561 กับระยะเดียวกันปี 2560 ลดลง ร้อยละ 1.3 โดยเมื่อพิจารณาดัชนีราคาเทียบเฉลี่ยกับระยะเดียวกันของปี 2560 ลดลงร้อยละ 1.3 โดยสินค้าสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 5.5 จากกลุ่มสินค้าผลผลิตการเกษตร (ร้อยละ -5.7) สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ -8.1) และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.8 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ (ร้อยละ -1.5) สิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (ร้อยละ -0.2) ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ร้อยละ -1.0) ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ร้อยละ -9.1) เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ -2.7) และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ (ร้อยละ -0.9) ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 2.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ 3.3)

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี เพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่ผู้ผลิตได้รับ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 596 รายการ สรุปผลได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) ประกอบด้วย ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ (ปี 2553 = 100) เดือนเมษายน 2561 ดัชนีราคาเท่ากับ 102.9 , 101.8 และ 96.3 ตามลำดับ

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP) เดือนเมษายน 2561 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2561 หมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.2 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 และ หมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 0.7

3. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เดือนเมษายน2561 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2560 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 1.2 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 0.6

4. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศชุดแบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) เฉลี่ยเดือนมกราคม –เมษายน 2561 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 หมวดสินค้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 1.2 หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 0.7 และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 3.8

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 5808 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ