ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤษภาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 1, 2018 13:38 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2561 เท่ากับ 102.14 เมื่อเทียบกับ

ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ

1. เดือนเมษายน 2561 (MoM) สูงขึ้น 0.56

2. เดือนพฤษภาคม 2560 (YoY) สูงขึ้น 1.49

3. เฉลี่ย 5 เดือน 2561 (AoA) สูงขึ้น 0.89

(ม.ค.-พ.ค. 2561) /(ม.ค.- พ.ค. 2560)

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤษภาคม 2561 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 เพิ่มขึ้น +1.49% (YoY) เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน และเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 16 เดือน จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราที่สูงในรอบ 13 เดือน ขณะที่อาหารสดเริ่มชะลอตัวลง เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ +0.80 (YoY) ช่วงระยะ 5 เดือนแรกของปีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ +0.89 (AoA) ซึ่งอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ (ร้อยละ 0.7-1.7) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ +0.66 (AoA)

1. การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าสำคัญ ที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2561 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.56 (MoM) (เมษายน 2561 สูงขึ้น ร้อยละ 0.45) มีรายละเอียด ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.45 จากการ สูงขึ้นของกลุ่มอาหารสดร้อยละ 0.65 โดยเฉพาะ ไข่ไก่ เนื้อสุกร ปลาทู ไก่สด เนื่องจากมีความต้องการมากในช่วงเปิดภาคเรียน ประกอบกับปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ส่งผลให้หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 1.68 หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.55 ผักสดและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.77 โดยเฉพาะผักสด สูงขึ้นร้อยละ 2.00 (ถั่วฝักยาว ผักชี ผักบุ้ง แตงกวา) เนื่องจากอากาศแปรปรวนส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 1.18 (น้ำปลา เกลือป่น กะทิสำเร็จรูป) ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 0.16 (ข้าวสารเจ้า) นอกจากนี้ อาหารบริโภค-ในบ้านและนอกบ้านปรับราคาสูงขึ้นด้วย

หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.62 ตามการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 3.97 จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด รวมทั้งก๊าซรถยนต์ ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 1.35 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.27 (เครื่องแบบนักเรียน รองเท้านักเรียน ถุงเท้า) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.16 (ก๊าซหุงต้ม ค่าเช่าบ้าน ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.25 (ค่าแต่งผม สบู่ถูตัว ยาสีฟัน กระดาษชำระ) นอกจากนี้ หมวดบันเทิง การอ่านและการศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.13 ตามการสูงขึ้นของค่า เล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะที่หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.01 ตามการลดลงของราคาเบียร์เป็นสำคัญ

2. เทียบเดือนพฤษภาคม 2560 (YoY) สูงขึ้น ร้อยละ 1.49 โดยมีการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.74 จากการสูงขึ้นของผักสด ร้อยละ 5.47 (ถั่วฝักยาว มะนาว แตงกวา พริกสด ผักชี) ส่งผลให้หมวดผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.22 หมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 2.02 (ข้าวสารเจ้า ขนมอบ) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.40 (กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน) อาหารบริโภค-ในบ้าน ร้อยละ 1.37 (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด) และอาหารบริโภค-นอกบ้าน ร้อยละ 1.31 (อาหารกลางวัน อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) อาหารเช้า) ขณะที่หมวดเครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ -1.23 (น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ซีอิ้ว ซอสมะเขือเทศ) หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ลดลงร้อยละ -0.45 (เนื้อสุกร ไก่สด ปลาทับทิม) และผลไม้สด ลดลงร้อยละ -0.81

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.93 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 9.86 ตามการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภทและก๊าซรถยนต์ ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 3.31 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 5.94 (บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สุรา) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 1.12 (ค่าเช่าบ้าน ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) หมวดการตรวจรักษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.71 (ค่าแต่งผม แชมพู ยาสีฟัน) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (ค่าเล่าเรียน - ค่าธรรมเนียมการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน)

3. เฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.- พ.ค. 2561) เทียบกับ (ม.ค.- พ.ค. 2560) (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.89 โดยมีการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.31 ตามการสูงขึ้นของหมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 0.54 ผักสด ร้อยละ 6.02 เครื่องดื่ม ไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.22 อาหารบริโภค-ในบ้าน และอาหารบริโภค-นอกบ้าน ร้อยละ 1.25 และ 0.99 ตามลำดับ ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงได้แก่ เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ -1.18 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ -1.27 ผลไม้สด ร้อยละ -1.08 และเครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ -1.61

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.23 จากการสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 1.34 (ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.07 (เครื่องแบบนักเรียน เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.48 (ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล) หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 1.33 (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.52 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 5.94 (บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สุรา) ขณะที่การสื่อสาร ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.04

4. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2561

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.7 - 1.7 (YoY)

          GDPf                3.6 - 4.6 (YoY)
          Dubai Oilf          55 - 65 USD/Barrel

Exchange Ratef 32.0 - 34.0 Baht/USD

สถานการณ์และปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเงินเฟ้อ

อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัว ตามผลผลิตและรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ปี 2561 อาจส่งผลดีต่อกำลังซื้อในประเทศ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคใน 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ การใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2561

การส่งออกที่มีการขยายตัวเป็นลำดับจากการฟื้นตัวของการค้าโลก รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก การแข็งค่าของเงินบาท

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแม้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังมีความผันผวน

การลงทุนภาครัฐอาจมีขั้นตอนที่อาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนทั้งหมด

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ