รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศ ประจำเดือน พ.ย.50

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 3, 2007 16:51 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน พฤศจิกายน 2550
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2550 โดยสรุปจากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่านและการศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคา ผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2550
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนพฤศจิกายน 2550 เท่ากับ 118.9 และเดือนตุลาคม 2550 คือ 118.4
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2550 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนตุลาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.4
2.2 เดือนพฤศจิกายน 2549 สูงขึ้นร้อยละ 3.0
2.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย.) ปี 2550 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.2
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2550 เทียบกับเดือนตุลาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตามภาวะราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น หลายครั้ง รวมถึงสินค้าหลายประเภทขออนุมัติปรับราคาสูงขึ้น ทำให้ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.8 อย่างไรก็ตามในช่วงนี้อากาศเย็นลงเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก มีผลทำให้ผักและผลไม้หลายชนิดราคาลดลง ประกอบกับราคาข้าวสารเหนียวซึ่งราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายเดือนราคาลดลงในเดือนนี้ ส่งผลให้ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 0.2 และทำให้ดัชนีรวมสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ถึงแม้อาหารประเภทเนื้อสุกร ไก่สด และไข่ จะมีราคาสูงขึ้นตามราคาอาหารสัตว์ก็ตาม
3.1 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ปัจจัยหลักยังคงเป็นการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นตามภาวะราคาตลาดโลก ส่งผลให้บริษัทน้ำมันต่าง ๆ ปรับราคาขายปลีกในประเทศสูงขึ้นโดยน้ำมันเบนซิน 95 สูงขึ้นประมาณ 4 - 5 ครั้ง เบนซิน 91 สูงขึ้นประมาณ 3 ครั้ง ส่วนน้ำมันดีเซลสูงขึ้นประมาณ 3 - 4 ครั้ง ทำให้ดัชนีหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 5.1 นอกจากนี้ดัชนีค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการปรับราคา สูงขึ้นเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา และสินค้าหลายชนิดปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ และยางรถยนต์ เป็นต้น ประกอบกับค่าธรรมเนียมการศึกษาของบางโรงเรียนปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2
3.2 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.2 สาเหตุหลักมาจากอากาศที่เย็นลงเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดผักและผลไม้ลดลงร้อยละ 2.0 โดยผักสดลดลงร้อยละ 5.3 จากการลดลงของราคากะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักชี มะเขือเทศ ขึ้นฉ่าย และต้นหอม เป็นสำคัญ ส่วนผลไม้สดลดลงร้อยละ 1.4 จากการลดลงของราคาส้มเขียวหวาน และมะละกอสุก นอกจากนี้ราคาข้าวสารเหนียวลดลงร้อยละ 2.0 รวมถึงปลา และสัตว์น้ำลดลงร้อยละ 0.2 ถึงแม้ราคาเนื้อสุกร ไก่สด และไข่ สูงขึ้นตามราคาอาหารสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์นม น้ำมันพืช กาแฟผงสำเร็จรูป และน้ำส้มสายชู จะทยอยปรับราคาสูงขึ้นก็ตาม
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2549 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 3.0 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 2.6 ที่สำคัญยังคงเป็นการสูงขึ้นของดัชนีราคาข้าวสารเหนียวร้อยละ 20.5 ไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 8.0 และเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 4.9
สำหรับดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 3.2 จากการสูงขึ้นของดัชนีพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 14.9 หมวดการบันเทิงการอ่านและการศึกษา ร้อยละ 1.4 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 3.1 เป็นสำคัญ
5. ถ้าพิจารณาเทียบดัชนีเฉลี่ยช่วง 11 เดือน (มค. - พย.) ปี 2550 กับช่วงเดียวกันของปี 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.2 โดยการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 4.1 ส่วนหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 0.9
6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2550 เท่ากับ 106.2 เมื่อเทียบกับ
6.1 เดือนตุลาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.1
6.2 เดือนพฤศจิกายน 2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.1
6.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย.) ปี 2550 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.0
โดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2550 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของเครื่องประกอบอาหาร ค่าโดยสารสาธารณะ แบตเตอรี่ ยางรถยนต์ และค่าธรรมเนียมการศึกษา
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ