รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 25, 2018 10:35 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครวมของประเทศ เดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 36.3 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 37.8 เป็นการลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต สาเหตุสำคัญ มาจากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ รายได้ และการหางานทำ ที่ปรับตัวลดลงจากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 3,605 คน ใน 77 จังหวัด ทั่วประเทศ

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 31.7 มาอยู่ที่ระดับ 30.0 สาเหตุสำคัญมาจากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและการหางานทำในปัจจุบันที่ปรับตัวลดลงจาก 38.1 และ 25.3 มาอยู่ที่ 35.8 และ 24.3 ตามลำดับ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.9 มาอยู่ที่ระดับ 40.4 สาเหตุสำคัญมาจาก ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่มีต่อภาวะภาวะเศรษฐกิจ รายได้ และการหางานทำที่ปรับตัวลดลงจาก 46.1 48.6 และ 30.9 มาอยู่ที่ 45.6 45.9 และ 29.8 ตามลำดับ

สำหรับ ความเชื่อมั่นของประชาชนด้านการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในเดือนนี้เทียบกับเดือนที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.3 มาอยู่ที่ 53.0 ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ มีค่าสูงกว่าระดับ 50 สะท้อนว่า ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในปัจจุบัน ขณะที่ ความเชื่อมั่นของประชาชนด้านการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพในเดือนนี้เทียบกับ 3 เดือนที่ผ่านมา และการวางแผนในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ในการซื้อรถยนต์ และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้แก่ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ฯลฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ก่อนหน้าที่ระดับ 49.8 14.8 และ 20.4 มาอยู่ที่ 50.0 15.3 และ 22.7 ตามลำดับ

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. กระจายอำนาจทางการคลังและการจัดสรรทรัพยากรไปสู่องค์กรท้องถิ่นและประชาชนเพิ่มมากขึ้น

2. การกระจายรายได้ ไม่ให้กระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ผ่านนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงาน

3. การควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง

4. การจัดการในเชิงธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดอบรมให้ความรู้ศึกษาดูงานจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

5. การจัดการเลือกตั้งเพื่อสร้างภาพลักษณ์และความมั่นใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน

6. การปรับลดค่าครองชีพ

7. การเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สูง เช่น ไฟฟ้า น้ำมัน สินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ

8. การส่งเสริมการทำการเกษตรอย่างมีระบบในชุมชน

9. ส่งเสริมการส่งออกของไทย และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

10. การออกนโยบายสนับสนุนให้คนในประเทศใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

11. แก้ไขเกี่ยวกับการว่างงาน เมื่อประชาชนมีรายได้ก็จะมีกำลังซื้อ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

12. แก้ไขราคาน้ำมัน ราคาแก๊ส เพิ่มสูงขึ้น

ด้านสังคม

1. ปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ให้หมดสิ้น

2. แก้ไขความยากจน และประชาชนผู้ยากไร้ให้อยู่ดีกินดี

3. แก้ปัญหาการคอรัปชั่นให้จริงจัง การป้องกันและปราบปรามความประพฤติมิชอบในการบริหารส่วนท้องถิ่น

4. การสร้างงานสร้างอาชีพที่ถาวรให้กับประชาชน และการหางานรองรับนักศึกษาจบใหม่

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

โทรศัพท์ 02-5076554 โทรสาร 02-5075806

http://www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ