ดัชนีภาวะธุรกิจส่งออก (Export Business Index) ประจำเดือนกรกฎาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 25, 2018 10:50 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

Highlights

ภาพรวมดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือนกรกฎาคม 2561 เท่ากับ 52.1 มีค่าเท่ากันกับเดือนก่อนหน้า และสูงกว่าระดับ 50 แสดงว่า ผู้ส่งออกยังคงมีมุมมองที่ดีต่อภาวะการส่งออกของไทย และจากการสำรวจ ความคิดเห็นของผู้ส่งออก จำนวน 304 ราย มีรายละเอียดผลการสำรวจดังนี้

ดัชนีมูลค่าส่งออก เดือนกรกฎาคม 2561 มีค่าเท่ากับ 54.0 แสดงว่า มูลค่าการส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้น สาเหตุหลักมาจาก ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ตามแนวโน้มของสินค้าเทคโนโลยีที่มีบทบาท มากขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน

สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน อาหารสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ขณะที่สินค้าที่มีมูลค่าส่งออก ลดลง ได้แก่ อาหารทะเล แช่เยือกแข็ง น้ำตาลทราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ยาง

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่

ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ เดือนกรกฎาคม 2561 มีค่าเท่ากับ 52.1 แสดงว่า คำสั่งซื้อใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากมีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง จากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะรถกระบะส่งออกในตลาดออสเตรเลีย เวียดนามและเอเชีย

สินค้าที่มีมูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ขณะที่สินค้าที่มูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ ลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง น้ำตาลทราย อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ดัชนีการจ้างงาน

ดัชนีการจ้างงาน เดือนกรกฎาคม 2561 มีค่าเท่ากับ 52.9 แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานของภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของสินค้าเทคโนโลยีในปัจจุบัน

สินค้าที่มีมูลค่าการจ้างงาน เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผักผลไม้ สด แช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารสำเร็จรูป

ขณะที่สินค้าที่มูลค่าการจ้างงาน ลดลง ได้แก่ ยางพารา สิ่งทอ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน

ดัชนีสินค้าคงคลัง

ดัชนีสินค้าคงคลังเดือนกรกฎาคม 2561 มีค่าเท่ากับ 49.5 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 แสดงว่ามูลค่าสินค้าคงคลังมีแนวโน้มลดลง เป็นผลจากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้น้อยลง เนื่องจากเป็นการผลิต ตามคำสั่งซื้อและวัตถุดิบของสินค้าบางชนิดปรับสูงขึ้น โดยสินค้า คงคลังที่ ลดลง ได้แก่ ยางพารา อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมคอมพิวเตอร์) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป

ขณะที่มูลค่าสินค้าคงคลังที่ เพิ่มขึ้นได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ไก่แช่เยือกแข็งและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน และเชื้อเพลิงและพลังงาน

ปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ส่งออก

ปัญหา
  • ความผันผวนของค่าเงินบาท ส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันทางการค้า
  • ขาดแคลนตู้บรรจุสินค้าสำหรับการส่งออก (ตู้คอนเทนเนอร์) ทำให้ไม่มีเรือส่งออกสินค้า อีกทั้งสภาพอากาศที่มีพายุเข้า ทำให้การขนส่งล่าช้าและเสียหาย
  • ค่าใช้จ่ายในการเดินเรือมีค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น
  • ความต้องการของตลาดต่างประเทศและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
  • ราคาสินค้าเหล็กปรับตัวสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาตามได้ ทำให้มีปัญหาในการวางแผนงานและมาตรการทางภาษี สินค้าเหล็กและอลูมิเนียมตามมาตรา 232 ของสหรัฐที่เข้มงวด
  • การส่งออกน้ำตาลทรายราคาลดลงมาก เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลง และตลาดยังถูกกดดันจากความกังวลต่อเนื่องเกี่ยวกับอุปทานที่ล้นตลาดโลก
  • กฎระเบียบของการส่งออกไก่สดแช่แข็ง มีความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าที่บริษัทปลายทางมากขึ้น โดยเฉพาะคู่ค้าในสหภาพยุโรป
  • ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องคอมพิวเตอร์
ข้อเสนอแนะ

ภาครัฐควรดำเนินการ ดังนี้

  • ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เพื่อช่วยให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่ค้า
  • ส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น
  • หาแนวทางในการดูแลและช่วยเหลือผู้ส่งออกกลุ่มสินค้าเหล็กและอลูมิเนียม ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการด้านภาษีจากสหรัฐอเมริกา
  • วางแผนและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปริมาณการส่งออกยางพารา เพื่อดันราคายางให้ได้ราคาที่เหมาะสม
  • ให้ภาครัฐหาตลาดใหม่ในการส่งออกน้ำตาลทราย

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ