ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 3, 2018 11:07 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2561

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนสิงหาคม 2561 ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 รวมทั้ง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน และอนาคต ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และความคาดหวังต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในปัจจุบัน ยังคงสูงกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมประจำเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 37.6 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ระดับ 37.1 ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน นอกจากนี้ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ อยู่ที่ระดับ 53.9 ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ

+ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 29.9 มาอยู่ที่ 30.9 จากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 35.5 มาอยู่ที่ระดับ 37.4 ขณะที่การหางานทำในปัจจุบันทรงตัวอยู่ที่ระดับ 24.4

+ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.8 มาอยู่ที่ 42.1 จากความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 47.8 มาอยู่ที่ 48.6 ขณะที่ ความคาดหวังที่มีต่อการหางานทำในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงจากระดับ 29.9 มาอยู่ที่ 29.7 อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 47.8

สำหรับ ระดับความเชื่อมั่นด้านต่างๆ ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในเดือนนี้ เทียบกับเดือนที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.6 มาอยู่ที่ 53.9 และสูงกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในเดือนนี้เทียบกับ 3 เดือนที่ผ่านมา การวางแผนซื้อรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.8 16.5 และ 23.5 มาอยู่ที่ระดับ 48.9 14.5 และ 22.5 ตามลำดับ

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ช่วยดูแลแก้ไขปรับปรุงในเรื่องปัญหาค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยที่ยังสูงมากให้ลดต่ำลง ความสุขของประชาชนลดลงมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงตาม แต่รายได้ลดลง รายจ่ายมากกว่ารายรับ ควรลดค่าสาธารณูปโภคประจำลง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางต่างๆ อาหารในชีวิตประจำวัน ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ เพราะประชาชน มีกำลังซื้อลดลง

2. ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำมาก และเศรษฐกิจการเกษตรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน เน้นต่อยอดเกษตรแปรรูป ผลักดันเกษตรกรในการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ควรปรับปรุงมากกว่าที่เคยเป็น มีหน่วยงานพัฒนาการผลิตปฐมภูมิ เพื่อช่วยประชาชนภาคเกษตรกรรม การพักชำระหนี้กับธนาคาร เนื่องจากประชาชนลงทุนสูงแต่ผลตอบแทนกลับน้อย ผลผลิตมีการตกค้าง ราคาต่ำ รัฐบาลควรสนับสนุนการเพิ่มราคา เช่น ยางพารา น้ำยาง ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ข้าว ผลไม้ ให้ดีขึ้น ไม่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ดูแลเรื่องราคาน้ำมัน

3. ส่งเสริมนโยบายทางด้านภาวะเศรษฐกิจทั่วไปทั้งในประเทศและนอกประเทศให้ดีขึ้นกว่าเดิม ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ มีความตื่นตัวมากกว่านี้ แก้ไขปัญหาสภาพเศรษฐกิจให้ดีขึ้น จัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะขายของยาก คนซื้อสินค้าน้อยลง การค้าขายไม่ดี

4. แก้ปัญหาราคาสินค้าที่สูงมาก แก้ไขให้ลดลง ปัญหาการขึ้นราคาสินค้าของพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของสินค้าแพงขึ้น ควบคุมราคาไม่ให้ราคาสูงเกินความเป็นจริง ปรับราคาของที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันลง

ด้านสังคม

1. การแก้ไขปัญหาการว่างงานของไทย คนว่างงานมาก หางานให้ทำ จ้างแรงงานให้เพิ่มขึ้น สำรวจกลุ่ม SME ที่มีศักยภาพการจ้างงานภายในจังหวัดเพื่อกระจายการรองรับการมีงานทำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีรายได้อย่างทั่วถึง ส่งเสริมการสร้างอาชีพและการลงทุนให้มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บัณฑิต จบใหม่ยังหางานทำยากมาก

2. แก้ปัญหาในด้านค่าแรง เงินเดือนถูก การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้าง รายได้จากการทำงานแก่พนักงานทั่วไป ปรับเงินเดือนข้าราชการ ให้สูงขึ้น เพื่อความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยในปัจจุบันให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจากความผันผวนของตลาดโลก ควรปฏิรูปโครงสร้างโดยมุ่งเน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงรายได้เสริมอย่างทั่วถึง

3. ควรจัดให้มีการเลือกตั้งโดยด่วนเพื่อความมั่นคงทางธุรกิจ เปลี่ยนการบริหารใหม่ จัดตั้งแบบถูกต้อง เพื่อเพิ่มความมั่นใจจากนักลงทุนต่างชาติ เงินจะได้เข้าประเทศ เรียกความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจดี และการเมืองมีเสถียรภาพ

4. กำจัดการทุจริตคอรัปชั่นในส่วนรัฐบาลอย่างจริงจัง ปราบปรามการทุจริตทุกรูปแบบ เพราะแต่ละหน่วยงานยังมีช่องโหว่ อยากให้เอาเงินภาษีของประชาชนมาบริหารประเทศกับสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะได้ไม่เดือดร้อน แก้ไขโดยยึดทรัพย์ นำมาอัดฉีดระบบเศรษฐกิจ แก้ปัญหาการโกงของนักการเมือง ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนไม่เอื้อประโยชน์ให้มากเกินไป รัฐบาลต้องได้รับผลตอบแทนมากกว่าที่ต้องเสียให้กับเอกชน

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

โทรศัพท์ 02-5076554 โทรสาร 02-5075806

http://www.price.moc.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ