ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนธันวาคม 2561 และปี 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 25, 2019 09:04 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนธันวาคม 2561

ดัชนีราคาส่งออก เดือนธันวาคม 2561 เท่ากับ 100.0 (ปี 2555 = 100) เทียบกับเดือนธันวาคม 2560 ปรับตัวสูงขึ้น ในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 0.7 (YoY) สาเหตุหลักเป็นผลจากความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น โดยหมวดสินค้า ที่ส่งผลให้ดัชนีราคาส่งออกยังคงปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง รองลงมาคือหมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันปะหลัง ข้าว และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรปรับตัวลดลง ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

ดัชนีราคานำเข้า เดือนธันวาคม 2561 เท่ากับ 91.3 (ปี 2555 = 100) เทียบกับเดือนธันวาคม 2560 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (YoY) เป็นการปรับสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวเช่นกัน โดยหมวดสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย แผงวงจรไฟฟ้า และหมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ถ่านหิน และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ สำหรับหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง

อัตราการค้า (Term of Trade) ของประเทศไทย เดือนธันวาคม 2561

อัตราการค้าของไทย เป็นเกณฑ์วัดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้าของประเทศ พิจารณาจากอัตราส่วนระหว่างดัชนีราคาส่งออกกับดัชนีราคานำเข้า ซึ่งอัตราการค้าของไทย ในเดือนธันวาคม 2561 เท่ากับ 109.5 (เดือนพฤศจิกายน 2561 เท่ากับ 108.8) มีค่าสูงกว่า 100 แสดงว่าประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี ทั้งนี้ เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกโดยรวม อยู่ในระดับที่สูงกว่าราคานำเข้า โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง ปุ๋ย เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้าเช่นกัน เนื่องจากเป็นวัตถุดิบเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญสำหรับการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนธันวาคม 2561

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 743 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนธันวาคม 2561 เท่ากับ 100.0 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนพฤศจิกายน 2561 เท่ากับ 100.4)โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนธันวาคม 2561 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 96.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 106.7 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.5 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 73.9

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนธันวาคม 2561 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 (MoM) ลดลงร้อยละ -0.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันดิบล้นตลาดและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างจีน สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งอาจส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบที่อาจปรับตัวลดลง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ราคาลดลงตามสต๊อกน้ำตาลโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว เนื่องจากคำสั่งซื้อข้าวมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับจีนและฟิลิปปินส์ รวมถึงการขายข้าวของภาคเอกชนให้กับตลาดในแอฟริกา และข้าวหอมมะลิให้กับ สหรัฐฯ ฮ่องกง และจีน สำหรับยางพารา ทิศทางราคาเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางของภาครัฐที่ลดพึ่งพาการส่งออกและเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง แต่ มีสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการ Shutdown ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ราคาปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สิ่งทอ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เป็นต้น

2.2 เทียบกับเดือนธันวาคม 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก) เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ ขณะที่ดัชนีราคาส่งออกที่ปรับลดลง คือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร จากราคาน้ำตาลทรายที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ

2.3 เทียบกับเฉลี่ยทั้งปี 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 3.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์พลาสติก หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เป็นหลัก

ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกของปี 2562 คาดว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงและควรเฝ้าระวัง ซึ่งส่งผลต่อความต้องการของตลาดโลก นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ยังอยู่ในระดับต่ำจากปัญหาอุปทานล้นตลาดและการแข่งขันรุนแรงจากประเทศคู่แข่ง ได้แก่ ยางพารา ข้าว น้ำตาลทราย ไก่สดและกุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น รวมถึงความผันผวนอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน ที่มีทิศทางแข็งค่า ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันต่อราคาส่งออก อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนปรับตัวดีขึ้น สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ของจีนที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าจะสามารถกลับมาส่งออกได้ดีอีกครั้ง นอกจากนี้ แม้สถานการณ์ข้อพิพาททางการค้ายังไม่สามารถคลี่คลายได้โดยเร็ว ไทยในฐานะที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมที่จีนไม่สามารถ ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ อาจเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะสามารถส่งออกไปสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีน ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาส่งออกไทยให้ปรับตัวสูงขึ้นได้ในอนาคต

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนธันวาคม 2561

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไป เพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 751 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนธันวาคม 2561 เท่ากับ 91.3 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนพฤศจิกายน 2561 เท่ากับ 92.3) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนธันวาคม 2561 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 65.6 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 102.4 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 96.3 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 102.2 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 94.6

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนธันวาคม 2561 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 (MoM) ลดลงร้อยละ -1.1 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ถ่านหิน และเชื้อเพลิงอื่นๆ โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบที่ล้นตลาด รวมทั้งความตึงเครียดเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก ขณะที่ดัชนีราคานำเข้า ที่ปรับสูงขึ้น คือ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ แผงวงจรไฟฟ้า หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ

2.2 เทียบกับเดือนธันวาคม 2560 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ ขณะที่หมวดสินค้าที่ลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และถ่านหิน ตามความพยายามปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์นั่ง สำหรับหมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค แต่มีสินค้าสำคัญที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ ขณะที่สินค้าสำคัญที่ปรับลดลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผักผลไม้และของปรุงแต่งทำจากผักและผลไม้

2.3 เทียบกับเฉลี่ยทั้งปี 2560 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 5.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันสำเร็จรูป ถ่านหิน และเชื้อเพลิงอื่นๆ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ทองคำ สินแร่โลหะ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด

ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคานำเข้าปี 2562 คาดว่าจะยังได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้านำเข้าหลักของไทย คือ น้ำมันดิบ ที่อาจจะยังคงผันผวนค่อนข้างสูงและมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้านำเข้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก สินค้าเชื้อเพลิงอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีผลกระทบเชื่อมโยงกับการค้าโลกอาจส่งผลต่ออุปสงค์ของสินค้าต่างๆ ในตลาด รวมถึงระดับราคาสินค้านำเข้า ของไทยได้

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ