ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน 2562 และเฉลี่ยระยะ 9 เดือนของปี 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 1, 2019 13:44 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกันยายน 2562 เท่ากับ 102.90 เมื่อเทียบกับ

       ระยะเวลา                                   การเปลี่ยนแปลง     ร้อยละ
       1. เดือนสิงหาคม 2562 (MoM)                       สูงขึ้น          0.10
       2. เดือนกันยายน 2561 (YoY)                       สูงขึ้น          0.32
       3. เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2562 เทียบกับ       สูงขึ้น          0.81

ช่วงเดียวกันของปี 2561 (AoA)

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกันยายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.32 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.52 สินค้ากลุ่มอาหารสดยังคงเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวร้อยละ 5.11 ตามการสูงขึ้นของ ข้าวสาร เนื้อสุกร ผักและผลไม้ เป็นสำคัญ ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานยังคงเป็นปัจจัยลบ โดยลดลงร้อยละ -6.39 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัวที่ร้อยละ 0.44 เงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.81 (AoA) และเงินเฟ้อไตรมาสที่ 3 ปี 2562 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.61

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2562 จากระหว่างร้อยละ 0.7 -1.3 (YoY) (ค่ากลาง 1.0) เป็นร้อยละ 0.7 -1.0 (ค่ากลางอยู่ที่ 0.85)

1. ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนกันยายน 2562 เทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.10 (MoM) โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.12 ตามการสูงขึ้นของ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ที่ร้อยละ 2.41 โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว และข้าวสารเจ้า ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังออกสู่ตลาดน้อย เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.54 อาทิ น้ำมันพืช ซีอิ้ว น้ำปลา ราคาเคลื่อนไหวตามการส่งเสริมการตลาด อาหารบริโภคนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.26 อาทิ อาหารแบบตะวันตก (เฟรนด์ฟราย) อาหารตามสั่ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.23 อาทิ น้ำอัดลม เครื่องดื่มรสชอกโกแลต และกาแฟผงสำเร็จรูป ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.16 โดยเฉพาะไข่ไก่ มีการปลดระวางแม่ไก่ปริมาณไข่จึงออกสู่ตลาดน้อยลง นอกจากนี้ นมถั่วเหลือง นมผง ราคาสูงขึ้น ขณะที่ผักและผลไม้ ลดลง ร้อยละ -0.94 โดยผักสด ลดลงร้อยละ -0.66 อาทิ พริกสด ต้นหอม มะละกอดิบ ผลไม้สด ลดลงร้อยละ -1.62 อาทิ ลองกอง องุ่น ฝรั่ง ผลผลิตผลไม้ออกสู่ตลาดพร้อมกันหลายชนิดและมีปริมาณมาก เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ลดลงร้อยละ -0.36 อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด กุ้งขาว โดยเฉพาะเนื้อสุกรใกล้เทศกาลกินเจ ความต้องการบริโภคลดลง อาหารบริโภคในบ้าน ลดลงร้อยละ -0.01 (อาหารโทรสั่ง (พิซซ่า) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป)

หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.08 ตามการสูงขึ้นของหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.31 (โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน แป้งผัดหน้า) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.09 ตามการสูงขึ้นของค่าเช่าบ้าน และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม) หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.07 ตามการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 0.22 (น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ยกเว้น ก๊าซธรรมชาติ (NGV)) ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.21 (เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) ค่าโดยสารสาธารณะ ลดลงร้อยละ -0.06 (ค่าโดยสารเครื่องบิน) หมวดการบันเทิง การอ่านและการศึกษา ลดลง -0.01 ตามการลดลงของเครื่องรับโทรทัศน์เป็นสำคัญ ขณะที่หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

2. เทียบเดือนกันยายน 2561 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.32 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.47 โดยข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 9.15 โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว และข้าวสารเจ้า เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวมีน้อย ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 7.04 โดยผัก สูงขึ้นร้อยละ 8.35 ( มะนาว พริกสด หอมหัวแดง) ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำ ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 5.74 (ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า เงาะ) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 2.79 (เนื้อสุกร ปลานิล ไก่ย่าง) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 1.63 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ครีมเทียม) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.53 (น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.66 และ 0.51 ตามลำดับ (ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว อาหารเช้า) ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ -0.10 จากการลดลงของ น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด)

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.90 ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ -2.86 โดยน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ -9.91 (น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภทยกเว้นก๊าซธรรมชาติ (NGV) และก๊าชยานพาหนะ (LPG)) การสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.03 (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.30 (รองเท้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 6.13 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.33 (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงชึ้นร้อยละ 0.23 (ของใช้ส่วนบุคคล และค่ายา) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.75 (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.01 (สุรา)

3. เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.81 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.48 สูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 5.13 โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 3.93 โดยเฉพาะเนื้อสุกร อาหารทะเล (หอยลาย หอยแครง) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 1.26 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ครีมเทียม) ผักและผลไม้ ร้อยละ 5.76 (มะนาว พริกสด ต้นหอม) เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 1.14 (น้ำพริกแกง ซอสมะเขือเทศ เกลือป่น) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.68 (เครื่องดื่มรสชอกโกแลต น้ำหวาน กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) ส่วนอาหารบริโภคในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.75 และ 1.40 ตามลำดับ (แฮมเบอร์เกอร์ กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า)

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.14 ตามการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -3.91 และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.04 ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่ง การสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.96 ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 3.64 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.46 และหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.51 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.15 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.10 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

4. ไตรมาส 3 ปี 2562 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.61 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.86 โดยเฉพาะผักและผลไม้สูงขึ้นร้อยละ 9.14 (มะนาว พริกสด ฝรั่ง แก้วมังกร) ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 6.75 (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 4.04 (เนื้อสุกร หอยลาย หอยแครง) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 1.76 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด) รวมทั้งเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารบริโภคในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนเครื่องประกอบอาหาร ดัชนีราคาลดลงร้อยละ -0.64

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.66 โดยเฉพาะดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงถึงร้อยละ -7.86 ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -2.14 นอกจากนี้ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.14 โดยเฉพาะรองเท้า เสื้อผ้าของบุรุษและสตรี หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ -0.23 (ของใช้ส่วนบุคคล (น้ำยาบ้วนปาก แป้งทาผิวกาย) ตามการจัดโปรโมชั่นเพื่อเพิ่ม ยอดจำหน่ายเป็นสำคัญ ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 6.07 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.30 และหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.76

คาดการณ์เงินเฟ้อ ปี 2562 อยู่ระหว่าง 0.7 - 1.0 (YoY) (ค่ากลาง 0.85)

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.7 - 3.2 % (สศช.)

ราคาน้ำมันดิบดูไบ 60 - 70 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

อัตราแลกเปลี่ยน 30.5 - 31.5 บาท/เหรียญสหรัฐฯ

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ