ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 3, 2020 15:34 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2562 เท่ากับ 105.0 เทียบกับ เดือนธันวาคม 2561 ลดลงร้อยละ 2.1 (YoY) ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 (เดือนพฤศจิกายน 2562 ลดลงร้อยละ 3.1) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ร้อยละ 12.3) หมวดซีเมนต์ (ร้อยละ 0.2) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ (ร้อยละ 0.4) และหมวดสุขภัณฑ์ (ร้อยละ 0.6)

สรุปสถานการณ์ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ยทั้งปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.2 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กอย่างต่อเนื่องซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับมีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศในปริมาณมาก อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง โครงการบ้านดีมีดาวน์ ประกอบกับแรงขับเคลื่อนนโยบาย1.เศรษฐกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งด้านระบบราง ถนน และอากาศ รวมทั้งโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคการก่อสร้างของไทย

1.เทียบกับเดือนธันวาคม 2561 (YoY) ลดลงร้อยละ 2.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 9.9 ได้แก่ ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง บานประตู ปรับราคาสูงขึ้นเมื่อช่วงต้นปี และราคาทรงตัวถึงสิ้นปี 2562

หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.2 ตามการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายในประเทศลดลงต่อเนื่องเป็นเดือน 6

หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบาคอนกรีตบล็อคปูพื้น คอนกรีตผสมเสร็จ ขอบคันคอนกรีต เนื่องจากความต้องการมีมากจากการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ (ตุลาคม 2562) และการซ่อมซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังภาวะน้ำท่วม

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 12.3 เป็นการลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ซีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลซีท ปัจจัยหลักสำคัญจากราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) ที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับมีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาจำหน่ายปริมาณมาก สอดคล้องกับการบริโภคเหล็กสำเร็จรูปของไทยเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 1.52 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 0.1

หมวดกระเบื้อง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

หมวดวัสดุฉาบผิว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.6 ได้แก่ โถส้วมชักโครก ฝักบัวอาบน้ำ ราวจับสแตนเลส ฉากกั้นห้องน้ำสำเร็จรูป และสายฉีดชำระ จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายช่วงปลายปี

หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของยางมะตอย

2. เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กฉาก และเหล็กรางน้ำ ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็ก ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7

หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.2 ได้แก่ ซีทไพล์คอนกรีตปรับราคาลดลงตามราคาวัตถุดิบลวดแรงดึงสูง ปริมาณงานลดลง ประกอบกับการแข่งขันสูง

หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.2 ได้แก่ อะลูมิเนียมแผ่นและยางมะตอย

3. เทียบกับ เดือนมกราคม-ธันวาคม 2561 (AoA) ลดลงร้อยละ 1.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 10.7 ได้แก่ ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง และบานประตู จากไม้นำเข้าปรับราคาสูงขึ้น

หมวดซีเมนต์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ เสาเข็ม-พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตบล็อกปูพื้น คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ และขอบคันคอนกรีต

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 9.3 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กรางน้ำ ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลซีท

หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ กระเบื้องเคลือบบุผนัง -ปูพื้น กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และกระเบื้องแกรนิต

หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน และซิลิโคน

หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.7 ได้แก่ โถส้วมชักโครก อ่างล้างหน้าเซรามิก ที่ปัสสาวะเซรามิก กระจกเงา ที่ใส่สบู่ ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ราวจับสแตนเลส สายน้ำดี และราวแขวนผ้าติดผนัง

หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 0.5 ได้แก่ เต้ารับ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซี ข้องอ-ข้อต่อ-สามทางท่อประปา และท่อระบายน้ำเสียพีวีซี

หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ หินคลุก หินย่อย อิฐมอญ อิฐโปร่ง อลูมิเนียมแผ่นเรียบ และยางมะตอย

4. ไตรมาส 4 ปี 2562 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 1.5 (QoQ) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาส 4 เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.5 จากการลดลงของราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 6.5 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ซีทไพล์เหล็ก เมทัลซีท) และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.5 (คอนกรีต-บล็อกก่อผนังมวลเบา ซีทไพล์คอนกรีต) ขณะที่หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (ซิลีโคน) แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาส 1 ปี 2563 คาดว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั้งตลาดโลกและตลาดเหล็กภายในประเทศปัญหาสงครามการค้า และความต้องการใช้ภายในประเทศที่ชะตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

5. ไตรมาส 4 ปี 2562 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.8 (YoY) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาส 4 ปี 2562 เทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561 ลดลงร้อยละ 2.8 จากการลดลงของราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 15.1 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ซีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็ก ตะปู เมทัลซีท) หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.5 (โถส้วมชักโครก กระจกเงา ราวจับสแตนเลส สายน้ำดี สายฉีดชำระ) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.5 (อลูมิเนียมแผ่น ยางมะตอย) หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.2 (ปูซีเมนต์ผสม) และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 (ซิลิโคน) ขณะที่หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 10.8 (ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบหน้าต่าง-ประตู บานประตู) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.2 (คอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตบล็อกปูพื้น) และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (ประตูน้ำ)

6. แนวโน้มสถานการณ์ และคาดการณ์

แนวโน้มปี 2563 คาดว่าราคาวัสดุก่อสร้างจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยสถานการณ์ก่อสร้างของไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดีจากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 จากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ การลดค่าจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ และโครงการบ้านดีมีดาวน์ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจขณะนี้เป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ภาครัฐยังคงมีแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งในด้านระบบราง ถนน และอากาศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TIFFIF) และมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) เพื่อดึงนักลงทุนภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและก่อให้เกิดการขยายการลงทุนมากขึ้น

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ