ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 5, 2020 13:53 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เท่ากับ 105.2 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ลดลงร้อยละ 2.0 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ลดลงร้อยละ 9.4) ตามความต้องการและต้นทุนที่ลดลง รวมทั้งหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดซีเมนต์ ที่ปรับลดลงร้อยละ 1.2 และ 0.1 ตามลำดับ สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายเหล็ก และการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ที่ปรับตัวลดลงในเดือนนี้ และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1.เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เทียบกับเดือนมกราคม 2563 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 1.5 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ปรับราคาลดลงตามราคาวัตถุดิบ คือ เศษเหล็ก ที่ปรับราคาลดลง และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ ถังซีเมนต์สำเร็จรูป ชีทไพล์คอนกรีต ภาวะการค้าชะลอตัว ประกอบกับมีการแข่งขันสูง

2. เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 (YoY) ลดลงร้อยละ 2.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 9.4 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท ปัจจัยหลักสำคัญจากราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) ที่ปรับตัวลดลง และหมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.1 ตามการลดลงของปูนซีเมนต์ผสมและปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ขณะที่หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี และหมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ อ่างล้างหน้าเซรามิก และกระจกเงา

3. เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 เทียบกับเทียบกับเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 1.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 8.9 ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะปู ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป และเมทัลชีท หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 1.0 ได้แก่ คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และชีทไฟล์คอนกรีต และหมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.1 ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และปูนซีเมนต์ผสม ขณะที่หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน และสีรองพื้นโลหะ หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลสและท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี และหมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ อ่างล้างหน้าเซรามิก ที่ปัสสาวะเซรามิก กระจกเงา ที่ใส่สบู่ สายฉีดชำระ และสายน้ำดี

4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2563 ดัชนีราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2563 มีแนวโน้มลดลงตามปัจจัยด้านอุปสงค์ที่สอดคล้องกับการชะลอตัวของการลงทุนและความต้องการใช้ในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยด้านอุปทานมาจากปริมาณการผลิตที่ยังมีส่วนเกินและต้นทุนสินค้าในหลายรายการที่มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับการแข่งขันด้านราคาในหลายสินค้าเริ่มสูงขึ้น ดังนี้

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก มีแนวโน้มชะลอตัวจากอุปทานส่วนเกินในจีนและญี่ปุ่น รวมทั้งการเร่งระบายสินค้า ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาภายในประเทศ

หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการลงทุนและภาคอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนจากยอดการจำหน่ายลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12

อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะทำให้การลงทุนในโครงการก่อสร้างของภาครัฐดำเนินการได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan To Value : LTV) การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมทั้งการขยายระยะเวลาการโอนอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความต้องการของภาคการก่อสร้างในประเทศขยายตัวได้ในระยะต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ