ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมกราคม2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 6, 2020 14:10 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนมกราคม 2563 (ปี 2553 = 100) เท่ากับ 101.6 เทียบกับเดือนมกราคม 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 (YoY) เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของหมวดผลผลิตเกษตรกรรมที่ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นถึงร้อยละ 7.2 และการปรับตัวดีขึ้นของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ14 เดือน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์จากเหมืองยังคงหดตัวต่อเนื่อง สินค้าในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ผลผลิตเกษตรกรรม (ข้าวเปลือกเหนียว อ้อย ปาล์ม ฯลฯ) สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ ฯลฯ) และปลาและสัตว์น้ำ (ปลาดุก ปลานิล ปูม้า ปูทะเล ฯลฯ) ขณะที่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ปรับตัวดีขึ้นได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร (เนื้อสุกร ไก่สด สับปะรดกระป๋อง น้ำมันปาล์มดิบ ฯลฯ) และทองคำ

ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า กลุ่มสินค้าในทุกขั้นตอนการผลิตขยายตัว โดยสินค้าสำเร็จรูป สินค้ากึ่งสำเร็จรูป และสินค้าวัตถุดิบ ขยายตัวร้อยละ 0.5 0.7 และ 3.7 ตามลำดับ โดยการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าวัตถุดิบอาหารส่งผลต่อเนื่องถึงราคาสินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสินค้าสำเร็จรูปที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตอย่างชัดเจน อาทิ ผลปาล์มสด-น้ำมันปาล์ม ข้าวเปลือกเหนียว-ข้าวสารเหนียว-แป้งข้าวเหนียว สับปะรดโรงงาน-น้ำสับปะรด-สับปะรดกระป๋อง เป็นต้น เช่นเดียวกับราคาวัตถุดิบที่ไม่ใช่อาหารที่ส่งผลต่อสินค้าในห่วงโซ่การผลิตเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเลียม (น้ำมันปิโตรเลียมดิบ-น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว-น้ำมันเครื่องบิน-น้ำมันเบนซิน-น้ำมันก๊าด)

1. เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.8 โดย
  • หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.2 โดยสินค้าสำคัญที่ปรับราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว และอ้อย จากปริมาณผลผลิตที่ลดลงขณะที่ความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง ปาล์มสด เนื่องจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐเพื่อดูดซับอุปทานส่วนเกิน เช่น สนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ในประเทศ และการนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า (กฟผ.) น้ำยางข้นและเศษยาง ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงประกอบกับมาตรการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ ผลไม้ (องุ่น กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน มะม่วง มะพร้าวอ่อน ทุเรียน) กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ จากผลผลิตลดลงขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาดุก ปลานิล ปลาทูสด ปลาลัง ปูม้า ปูทะเล ปลาหมึกกล้วย หอยนางรม หอยลาย และหอยแครง จากความแปรปรวนของสภาพอากาศส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และหัวมันสำปะหลัง จากความต้องการของตลาดชะลอตัว ผักสด (มะนาว มะเขือ คะน้า ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก แตงร้าน) จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากติดลบต่อเนื่อง 13 เดือน แต่มีการเปลี่ยนแปลงของสินค้าหลายรายการ โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และทองคำ ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด น้ำสับปะรด สับปะรดกระป๋อง น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ปลายข้าว ราคาสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ) ปรับราคาลดลงเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม สายไฟ สายเคเบิล และแบตเตอรี่ จากราคาวัตถุดิบลดลง กลุ่มเคมีภัณฑ์ ได้แก่ เม็ดพลาสติก จากอุปทานที่มีอยู่มากและความต้องการชะลอตัวในช่วงปลายปี โซดาไฟ ราคาลดลงตามตลาดโลก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก ตามราคาตลาดโลกประกอบกับการแข่งขันสูงกับสินค้าเหล็กที่นำเข้าจากต่างประเทศ กลุ่มสิ่งทอ ราคาวัตถุดิบลดลงและปรับราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย กลุ่มเยื่อกระดาษ ตามราคาตลาดโลกประกอบกับคำสั่งซื้อลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 0.4 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) เป็นไปตามภาวะตลาดโลก
2. เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.9 โดย
  • หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 3.1 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยเนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผลปาล์มสด และยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐเพื่อลดสต๊อกประกอบกับเป็นช่วงปริมาณผลผลิตออกน้อยส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ผลไม้ (องุ่น สับปะรดโรงงาน ส้มเขียวหวาน มะละกอ ฝรั่ง) จากความต้องการบริโภคมีอย่างต่อเนื่องขณะที่ผลผลิตลดลง กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาดุก ปลานิล ปลาลัง กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย และหอยแครง สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง เป็นช่วงฤดูผลผลิตออกสู่ตลาดและความต้องการของตลาดชะลอตัว พืชผัก (มะนาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก) เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูกทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น
  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของราคากลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เนื้อสุกร น้ำสับปะรด น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์ ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง ปลายข้าว รำข้าวขาว น้ำตาลทราย กากน้ำตาล ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง ตามราคาสินค้าเกษตรที่ใช้ในการผลิต น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และทองคำ ตามราคาตลาดโลก เหล็กแผ่นและเหล็กเส้น ตามราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น รถยนต์นั่งและรถบรรทุก ราคาขยับขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นส่วนของรถรุ่นเดิม
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) ตามราคาตลาดโลก

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ