ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 6, 2020 14:15 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม 2563 เท่ากับ 44.1

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนมกราคม 2563 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 44.1 เป็นการลดลงของทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 39.4 มาอยู่ที่ระดับ 38.9 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 48.0 มาอยู่ที่ระดับ 47.6

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต

การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคคาดว่าสาเหตุหลักน่าจะมาจากความกังวลต่อสถานการณ์โรคระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และสถานการณ์โลกที่ค่อนข้างผันผวนในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในปี 2563 สามารถปรับตัวดีขึ้น และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นได้

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ

เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร (ระดับ 44.2) กลุ่มผู้ประกอบการ (ระดับ 45.1) กลุ่มพนักงานของรัฐ (47.8) กลุ่มนักศึกษา (41.9) และกลุ่มไม่ได้ทำงาน (40.1) สำหรับกลุ่มพนักงานเอกชนและกลุ่มรับจ้างอิสระ ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.6และ 44.2 ตามลำดับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มเกษตรกรในทุกภาคปรับตัวสูงขึ้น ยกเว้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีปรับตัวลดลง คาดว่าสาเหตุหลักมาจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง นอกจากนี้พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ประกอบการปรับตัวลดลงในทุกภาคยกเว้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ปรับตัวลดลงจากระดับ 44.4 46.7 และ 45.0 มาอยู่ที่ระดับ 43.1 45.1 และ 44.7 ตามลำดับ สำหรับภาคกลาง ทรงตัวที่ระดับ 46.3 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3มีเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 40.5 มาอยู่ที่ระดับ 42.5

ผลการศึกษาประเด็นที่น่าสนใจประจำเดือนมกราคม 2563

การสำรวจความเห็นต่อราคาสินค้าในรอบปีที่ผ่านมาผู้บริโภคมีความเห็นว่า ราคาสินค้าในรอบปีที่ผ่านมา

แพงขึ้นร้อยละ 80.2

เท่าเดิมร้อยละ 15.7

ถูกลงร้อยละ 4.1

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับต่ำแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 80.2 ยังคงเห็นว่าราคาสินค้าสูงขึ้น คาดว่า สินค้ากลุ่มที่ราคาสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอาหาร ค่าโดยสาร และค่าบริการอื่นๆ ซึ่งผู้บริโภคต้องใช้จ่ายเป็นประจำ น่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจค่อนข้างมาก ดังนั้น การดูแลและติดตามราคาสินค้าเหล่านี้ให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเหตุและผลจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในรอบปีที่ผ่านมา

จำแนกรายอาชีพ

พบว่า ผู้บริโภค กลุ่มเกษตรกรมีความเห็นว่าราคาสินค้าในรอบปีที่ผ่านมาแพงขึ้นมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 86.5 รองลงมาได้แก่ กลุ่มนักศึกษา ร้อยละ 82.6 และกลุ่มผู้ประกอบการ ร้อยละ 81.4

จำแนกรายภาค

พบว่า ผู้บริโภคใน กรุงเทพฯและปริมณฑลมีความเห็นว่าราคาสินค้าในรอบปีที่ผ่านมาแพงขึ้นมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 88.0 รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือ ร้อยละ 81.5 และภาคกลาง ร้อยละ 80.5

การซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต

พบว่า ผู้บริโภค เคยซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 43.8) และไม่เคยซื้อ(ร้อยละ 56.2) โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่นิยมซื้อเครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ สินค้าสุขภาพ/เครื่องสำอาง/ของใช้ส่วนบุคคล มากที่สุด

สินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อผ่านช่องทาง Lazadaและ Shopeeมากที่สุดได้แก่

  • กลุ่มเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ร้อยละ 28.6 และ 27.1
  • กลุ่มสินค้าสุขภาพ/เครื่องสำอาง/ของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 20.7 และ 18.6
  • กลุ่มของใช้ในสำนักงาน ร้อยละ 11.2 และ 10.2
สินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อผ่านช่องทาง Facebook มากที่สุดได้แก่
  • กลุ่มเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ร้อยละ 27.6
  • กลุ่มสินค้าสุขภาพ/เครื่องสำอาง/ของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 16.6
  • กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 9.2

กลุ่มอาชีพที่นิยมซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ กลุ่มพนักงานเอกชนคิดเป็นร้อยละ 69.6 รองลงมาได้แก่ กลุ่มพนักงานของรัฐ ร้อยละ 65.4และกลุ่มนักศึกษา ร้อยละ 59.8

ภาคที่นิยมซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑลคิดเป็นร้อยละ 57.0 รองลงมาได้แก่ ภาคใต้ ร้อยละ 54.2 และภาคกลาง ร้อยละ 49.8

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ