ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2020 14:51 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนพฤษภาคม 2563 (ปี 2553 = 100) เท่ากับ 98.1 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2562 ลดลงร้อยละ 4.8 (YoY) จากการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 4.4 สินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยาง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 24.5 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติและแร่ โดยสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับลดลงตามตลาดโลกและต้นทุนวัตถุดิบ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.9 จากสินค้าสำคัญ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หัวมันสำปะหลัง ยางพารา พืชผัก และสุกรมีชีวิต เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการชะลอตัว

ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า หมวดสินค้าสำเร็จรูป สินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และสินค้าทุน หดตัวร้อยละ 1.8 10.6 และ6.8 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับลดลงตามวัตถุดิบ ได้แก่ น้ำยางข้น/ยางแผ่นดิบ –ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง มันสำปะหลัง –แป้งมันสำปะหลัง/ มันเส้น/มันอัดเม็ด จากภาวะการค้าชะลอตัว สำหรับสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก-ข้าวสารเจ้า- ข้าวสารเหนียว ตามผลผลิตที่ลดลงจากภาวะภัยแล้ง และปาล์มสด –น้ำมันปาล์มดิบ- น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ในประเทศ

1. เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 4.8 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.9 จากสินค้าสำคัญ กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หัวมันสำปะหลัง และยางพารา เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ยังคงซบเซาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พืชผัก (มะนาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย กะหล่ำดอก) ผลไม้ (มะม่วง มังคุด เงาะ ลำไย มะละกอ) และกลุ่มสัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากภาวะการค้าและความต้องการบริโภคชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ร้านค้าและสถานประกอบการปิดชั่วคราว สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และอ้อย มีปริมาณผลผลิตลดลงเนื่องจากภาวะภัยแล้ง ผลปาล์มสด จากมาตรการดูดซับอุปทานส่วนเกินน้ำมันปาล์มดิบผ่านกลไกการสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ในประเทศ ไก่มีชีวิตและไข่ไก่ ตามความต้องการบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 24.5 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดโลก

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 4.4 เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แม้จะมีมาตรการผ่อนคลายการปิดเมืองในหลายประเทศแล้ว แต่ความต้องการของตลาดและราคาวัตถุดิบที่ลดลง ยังส่งผลกระทบให้สินค้าสำคัญมีราคาลดลงต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) กลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ถุงพลาสติก) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ (สายไฟ สายเคเบิล แผงวงจรไฟฟ้า) สำหรับฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ปรับราคาลดลงตามวงจรผลิตภัณฑ์ของสินค้าบางรุ่นที่ผลิต

2. เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.2 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.2 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำมันปาล์ม เนื่องจากสต็อกน้ำมันปาล์มดิบมีปริมาณมาก ประกอบกับผลผลิตปาล์มสดออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคลดลง ข้าวนึ่ง ตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอตัว กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ได้แก่ ด้ายฝ้าย ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย ผ้าฝ้าย ตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง ประกอบกับตลาดซบเซาทำให้สิ่งทอบางรายการไม่มีคำสั่งซื้อใหม่ กลุ่มเคมีภัณฑ์ ได้แก่ เม็ดพลาสติก ตามราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับต่ำและความต้องการใช้ที่ยังชะลอตัว กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ราคาในแต่ละสัปดาห์มีความเคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยเฉลี่ยทั้งเดือนปรับลดลงเล็กน้อย กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การส่งออกลดลงและลูกค้าชะลอการซื้อ สำหรับฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ปรับราคาลดลงเล็กน้อยเนื่องจากสินค้าบางรุ่นอยู่ในช่วงปลายของวงจรผลิตภัณฑ์และตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 11.0 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) และแร่ (ตะกั่ว ดีบุก วุลแฟรม) ตามราคาตลาดโลก

หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.9 สินค้าสำคัญที่ปรับราคาสูงขึ้น กลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และอ้อย เนื่องจากผลผลิตลดลงจากบางพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก เนื่องจากเกษตรกรเพิ่งเริ่มเปิดกรีดหน้ายาง พืชผัก (กระเทียม มะนาว แตงกวา พริกสด กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี ผักขึ้นฉ่าย ผักกวางตุ้ง แตงร้าน) มีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อน ประกอบกับปริมาณน้ำบางพื้นที่ไม่เพียงพอ กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งแวนนาไมและปลาหมึก เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลผลิตลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลังสดและผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว ผลไม้ (กล้วยหอม มังคุด ทุเรียน เงาะ) เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก กลุ่มสัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ ตามความต้องการบริโภคของตลาดที่ชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เนื้อสุกรและไก่สด ราคาปรับลดลง

3. เฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 2.1 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.4 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงวงจรไฟฟ้า สายเคเบิล สายไฟ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา กลุ่มเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟและปุ๋ยเคมีผสม กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ ได้แก่ เหล็กแผ่น เหล็กแท่ง เหล็กเส้น เหล็กฉาก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพาราและไม้อัด

หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 10.3 จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ

หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.2 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ผลปาล์มสด ข้าวเปลือกเหนียว สับปะรดโรงงาน/บริโภค มะพร้าวผล กล้วยน้ำว้า ชมพู่ และกลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต ไข่ไก่

4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมิถุนายน 2563

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาผู้ผลิต นอกเหนือจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกที่ยังรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอุปทานส่วนเกินของสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นผลจากการลดลงของอุปสงค์และสงครามการค้า ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรแม้ยังมีปัจจัยบวกจากภัยแล้ง และอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการคลายล็อกมาตรการต่าง ๆ แต่การลดลงของนักท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยทอนที่น่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญตลอดทั้งปี โดยรวมดัชนีราคาผู้ผลิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) น่าจะยังหดตัวต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ