ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนมิถุนายน 2563 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 6, 2020 15:11 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนมิถุนายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.5 (YoY) หดตัวน้อยลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สะท้อนถึงการหดตัวผ่านจุดต่ำสุดแล้วและเริ่มมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ปัจจัยหลักเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบโลกทยอยปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามการปรับลดกำลังการผลิต รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ลง ส่งผลให้หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 29.0 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.8 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.7 และ 0.6 ตามลำดับ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ข้าว และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ซึ่งเป็นไปตามความต้องการบริโภคสินค้าประเภทอาหารและต้นทุนราคาวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น รวมถึงผลของต้นทุนค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าปรับตัวสูงขึ้นมาก

ดัชนีราคานำเข้า เดือนมิถุนายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.8 (YoY) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ลดลงร้อยละ 24.2 แต่ยังหดตัวได้น้อยกว่าเดือนก่อนหน้า ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.1 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องประดับ อัญมณี ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ กาแฟ ชา เครื่องเทศ นาฬิกาและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ แนวโน้มราคาส่งออก-นำเข้าของไทย ปี 2563 คาดว่าจะต่ำกว่าปีก่อนหน้า แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยกดดัน ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการสินค้าสำคัญของโลกชะลอตัว 2) ราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้ราคาส่งออก-นำเข้าสูงขึ้น ได้แก่ 1) ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปสูงขึ้น 2) ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 3) การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ของหลายประเทศ ทำให้การส่งออก-นำเข้าสินค้าขยายตัวดีขึ้น และ 4) ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น

อัตราการค้า (Term of Trade) เดือนมิถุนายน 2563

อัตราการค้าของไทย ในเดือนมิถุนายน 2563 เท่ากับ 110.1 (เดือนพฤษภาคม 2563 เท่ากับ 111.5) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผักและผลไม้ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดโลก ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาที่ได้รับจากการส่งออก ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ เนื่องจากคุณภาพสินค้ามีลักษณะที่แตกต่างกัน รวมทั้งทองคำ ราคาส่งออกเป็นไปตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งในปัจจุบันต่ำกว่าราคานำเข้า ที่มีการนำเข้าเพื่อรอการเก็งกำไรในช่วงต่อไปตามวัฏจักรราคาทองคำขาขึ้น เป็นต้น

ดัชนีราคาส่งออกประจำเดือนมิถุนายน ปี 2563 และไตรมาสที่ 2 ปี 2563

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมิถุนายน 2563 เท่ากับ 99.6 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนพฤษภาคม 2563 เท่ากับ 98.9) โดยดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 103.4 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 108.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.0 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 55.0

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมิถุนายน 2563 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ตามทิศทางการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศสำคัญฯ ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 18.0 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลง ตามข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิต ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นนอกจากนี้ ข้าว ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ราคาสูงขึ้น เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ความต้องการสินค้าจากตลาดโลกเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และเคมีภัณฑ์ ตามคำสั่งซื้อที่มีเข้ามามากขึ้นหลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ น้ำตาลทราย ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางราคาตลาดโลกและน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องดื่ม ราคายังปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าอาหารเพื่อการบริโภค

2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 1.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 29.0 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.8 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการสินค้าที่ลดลงจากผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ซึ่งเป็นไปตามความต้องการบริโภคสินค้าประเภทอาหารจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง

2.3 เฉลี่ย 6 เดือน ม.ค.-มิ.ย. ปี 2563 เทียบกับปี 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 1.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 25.3 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.7 ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก ทองแดงและผลิตภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นผลจากความต้องการสินค้าชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาปิโตรเลียม ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการสินค้าในหมวดอาหารที่ขยายตัว เพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลนสินค้าภายในประเทศ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

2.4 ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 2.0 (ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ลดลงร้อยละ 0.4) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 40.1 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ลดลง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.9 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก ตามความต้องการสินค้าจากตลาดโลกที่ลดลง ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.4 โดยเฉพาะอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และน้ำตาลทราย เนื่องจากอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยังเป็นที่ต้องการของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 เนื่องจากเป็นสินค้าที่เก็บไว้ได้นาน ขณะที่อ้อยได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง และหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง

2.5 ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 1.2 (ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ลดลงร้อยละ 0.5) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 30.3 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงตามความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ลดลง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ตามคำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดต่างประเทศที่ลดลง และเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยเฉพาะอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการบริโภคสินค้าประเภทอาหารกระป๋องและแปรรูปที่เพิ่มขึ้น จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้ตลาดสินค้าดังกล่าวยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคานำเข้าประจำเดือนมิถุนายน ปี 2563

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมิถุนายน 2563 เท่ากับ 90.5 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนพฤษภาคม 2563 เท่ากับ 88.7) โดยดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 52.8 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 104.7 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 98.9 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 104.7 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 95.6

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมิถุนายน 2563 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 2.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 15.0 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงอื่น ๆ เนื่องจากตลาดมีความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศเริ่มมีมาตรการคลายล็อคดาวน์ โดยเฉพาะทางด้านสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีรายงานว่ายอดติดเชื้อไวรัสโควิด-19ยังคงเพิ่มขึ้นก็ตาม หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน และรถจักรยานยนต์ หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง และเครื่องประดับอัญมณี หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และหมวดสินค้าทุนสูงขึ้น ร้อยละ 0.1 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ และผลิตภัณฑ์ทำจากยาง

2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 2.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ลดลงร้อยละ 24.2 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน เนื่องจากตลาดราคาน้ำมันดิบโลกลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.1 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องประดับ อัญมณี ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ กาแฟ ชา เครื่องเทศ นาฬิกาและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์การทดสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ

2.3 เฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2563 เทียบกับปี 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 3.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 25.6 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เครื่องประดับอัญมณี และกาแฟ ชา เครื่องเทศ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก

2.4 ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 5.0 (ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ลดลงร้อยละ 1.0) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 37.0 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลงค่อนช้างมาก และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.2 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการสั่งซื้อสินค้าชะลอลงตามไปด้วยขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.6 ได้แก่ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.6 ได้แก่ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ฯ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

2.5 ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 3.3 (ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ลดลงร้อยละ 1.7) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 23.8 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.6 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์นั่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการสั่งซื้อสินค้าชะลอตัว หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และสำหรับหมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 0.1 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ทองคำ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ