ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 4, 2021 20:42 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2564

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2564 เท่ากับ 114.6 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 10.7 (YoY) โดยยังมีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 47.0 เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการลดกำลังการผลิตในประเทศจีน ในขณะที่ความต้องการบริโภคเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้น จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศภายหลังที่ได้มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายมากขึ้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบก็เริ่มมีการปรับราคาสูงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 10.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว บานประตู-หน้าต่าง ไม้คาน วงกบประตู-หน้าต่าง เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นและความต้องการใช้ไม้แปรรูปสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.6 ซึ่งยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นจากวัตถุดิบ คือ เหล็ก ประกอบกับฐานต่ำในปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 47.0 ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นการปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกรายการสินค้า เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกยังคงสูงขึ้น จากมาตรการการลดการผลิตและการจำกัดการส่งออกเหล็กของประเทศจีน ในขณะที่ความต้องการบริโภคเหล็กในตลาดโลกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายในหลายประเทศ หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น ซึ่งปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.4 ซึ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC ก๊อกน้ำ และประตูน้ำ เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบในการผลิต และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 2.6 ซึ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากความต้องการในตลาดสูงขึ้นจากการดำเนินงานโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.1 ซึ่งยังคงลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากมีการแข่งขันสูงจากโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงซบเซาจากผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการลดลงของซิลิโคน ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดสุขภัณฑ์

2. เทียบกับเดือนเมษายน 2564 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 2.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นจากวัตถุดิบ คือ เหล็ก หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 7.4 จากการปรับตัวสูงขึ้นของเหล็กเกือบทุกชนิด ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่น ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู และเมทัลชีท เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการการลดการผลิตและการจำกัดการส่งออกเหล็กของประเทศจีน ส่งผลให้ปริมาณเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคเหล็ก ในตลาดโลกที่สูงขึ้นจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของสายไฟฟ้า VCT และประตูน้ำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง ทองเหลือง ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.3 จากการลดลงของราคายางมะตอย เนื่องจากความต้องการในตลาดเริ่มลดลง จากการชะลองานก่อสร้าง ภายหลังจากการเร่งดำเนินงานในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดซีเมนต์ หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์

3. เฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 6.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว และไม้แบบ เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมีความต้องการใช้ไม้แปรรูปสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตผสมเสร็จ และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากราคาต้นทุนของวัตถุดิบ คือ เหล็ก ปรับตัวสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 29.2 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสแตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป น๊อต ตะปู ข้อต่อเหล็ก และเมทัลชีท ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาเหล็กในตลาดโลกที่สูงขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และกระเบื้องแกรนิต เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 2.5 จากการสูงขึ้นของสายไฟ VCT สายเคเบิล THW ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา ก๊อกน้ำ และประตูน้ำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง ทองเหลือง ปรับตัวสูงขึ้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย เนื่องจากความต้องการสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.0 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากภาวการณ์ก่อสร้างที่ยังคงซบเซา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีแนวโน้มที่จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการก่อสร้างยังคงซบเซาต่อเนื่อง หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของสีทาถนน ชนิดสะท้อนแสง และซิลิโคน และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.3 จากการลดลงของกระจกเงา ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ฝักบัวอาบน้ำ สายฉีดชำระ และราวแขวนผ้าติดผนัง

4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน ปี 2564

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2564 ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการปรับตัวสูงขึ้นของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ตามสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในหลายประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจีน ที่มีการลดกำลังการผลิตตามมาตรการควบคุมมลภาวะทางอากาศ และยกเลิกการคืนภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กส่งออก ซึ่งทำให้การส่งออกเหล็กของจีนลดลงและราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างภายในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นตามการดำเนินโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ประกอบกับนโยบาย "Made in Thailand" ที่ส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังคงน่ากังวล อาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมชะลอตัว นอกจากนี้ การพบผู้ติดเชื้อใน Cluster แคมป์คนงานก่อสร้างหลายแห่ง อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโครงการก่อสร้างทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง การเริ่มเข้ามาดูแลและควบคุมราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ น่าจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเหล็ก และธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ในระยะต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ