ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 10, 2022 15:42 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2565

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 122.2 เทียบกับเดือนเมษายน 2564 สูงขึ้นร้อยละ 8.8 (YoY) ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบเป็นสำคัญ อาทิ น้ำมัน ถ่านหิน เหล็ก และอลูมิเนียม เป็นต้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในต่างประเทศ ประกอบกับการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิต ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ และราคาวัตถุดิบนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทั้งนี้ภาพรวมอุตสาหกรรมการก่อสร้างเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยการก่อสร้างภาครัฐยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนเมษายน 2564 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 8.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของแผ่นไม้อัด ไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน ไม้ฝา และไม้พื้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 6.9 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป ซึ่งยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (ถ่านหิน และน้ำมัน) มีการปรับตัวสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 6.7 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีต ท่อระบายน้ำคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ เป็นต้น เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เหล็ก ถ่านหิน และอลูมิเนียม หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 19.3 จากการปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า อาทิ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ - ผิวข้ออ้อย ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง และเหล็กตัวซี เป็นต้น เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น บัวเชิงผนัง PVC และกระเบื้องลอนคู่ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ซึ่งยังคงสูงขึ้นเนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของฝักบัวอาบน้ำ กระจกเงา ราวแขวนผ้าติดผนัง ที่ใส่กระดาษชำระ และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC และประตูน้ำ เป็นต้น เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 6.5 จากการสูงขึ้นของ สินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม อิฐหินดินทราย และยางมะตอย จากการสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมัน

2. เทียบกับเดือนมีนาคม 2565 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 2.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมัน และถ่านหิน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.6 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 5.8 เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ - ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี ตะปู เป็นต้น หมวดกระเบื้อง ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดวัสดุฉาบผิว ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดสุขภัณฑ์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยจากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC และประตูน้ำ เป็นต้น เนื่องจากการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบเป็นสำคัญ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของอลูมิเนียมแผ่นเรียบ อลูมิเนียมเส้น และยางมะตอย เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญ (น้ำมัน) มีการปรับตัวสูงขึ้น

3. เฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค. - เม.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 7.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.3 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน แผ่นไม้อัด ไม้ฝา และไม้พื้น เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 5.4 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป ซึ่งยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยวัตถุดิบที่สำคัญ (ถ่านหิน น้ำมัน) ปรับตัวสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.9 ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสูงขึ้นของคอนกรีตผสมเสร็จ ท่อระบายน้ำคอนกรีต ชีทไพล์คอนกรีต และถังซีเมนต์สำเร็จรูป เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 16.1 จากการสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตเหล็กมีการลดกำลังการผลิต ซึ่งส่งผลให้ราคาเหล็กจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น บัวเชิงผนัง PVC และกระเบื้องลอนคู่ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบเฉลี่ยที่ยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ยังคงสูงขึ้นเนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของฝักบัวอาบน้ำ กระจกเงา และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป เป็นต้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.9 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ประตูน้ำ และท่อ PVC เป็นต้น เนื่องจากราคาเฉลี่ยมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 5.9 จากการสูงขึ้นของ สินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม ยางมะตอย และอิฐหินดินทราย เนื่องจากราคาเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบ ได้แก่ น้ำมัน เป็นสำคัญ

4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม ปี 2565

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2565 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น จากราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ขยายตัวตามอุปทานเหล็กที่มีแนวโน้มตึงตัว อันเป็นผลจากปริมาณการผลิตเหล็กดิบโลกที่ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกัน (มกราคม - มีนาคม) ของปีก่อน ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร ส่งผลให้ราคาน้ำมัน วัตถุดิบ อยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันการยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก มีผลให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งวัสดุก่อสร้างอื่น อาทิ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา วัสดุก่อสร้างอื่น ๆ (ยางมะตอย) สูงขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัสโควิด - 19 ในจีน สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นปัจจัยส่งผลต่ออุปสงค์ของภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเป็นแรงกดดันต่อดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ