ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 5, 2022 14:48 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2565 เท่ากับ 120.0 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 6.3 (YoY) เป็นการสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์คอนกรีต ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และค่าเงินบาทอ่อน ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากการใช้วัสดุก่อสร้างในโครงการก่อสร้างภาครัฐที่ดำเนินการต่อเนื่องตามแผน แม้ว่าต้นทุนก่อสร้างสูงขึ้นแต่ส่วนใหญ่ทำสัญญาแบบปรับราคาได้ ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยจากการคำนวณค่า K

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 6.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของแผ่นไม้อัด ไม้แบบ ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้พื้น และไม้ฝา เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 7.7 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.5 โดยมีสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีต และคอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา เป็นต้น เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ หิน ทราย เหล็ก และพลังงานหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 9.1 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ชีทไพล์เหล็ก และลวดผูกเหล็ก เป็นต้น ตามสถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลก และอุปสงค์ในประเทศ หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.6 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต บัวเชิงผนัง PVC และครอบสันโค้ง เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น (ดินขาว ทราย สี) หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.3 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สีรองพื้นโลหะ ซิลิโคน และสีเคลือบน้ำมัน เป็นต้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ที่ใส่กระดาษชำระ ราวแขวนผ้าติดผนัง อ่างล้างหน้าเซรามิก ฝักบัวอาบน้ำ และกระจกเงา เป็นต้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.3 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC และประตูน้ำ เป็นต้น ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ ได้แก่ เม็ดพลาสติก และทองแดง และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 7.2 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย ที่ปรับตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และสินค้าในกลุ่ม อิฐ หิน ดิน ทราย อลูมิเนียม ตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบการราคาต้นทุนสูงขึ้น

2. เทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 3.0 เป็นผลจากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กแผ่นเรียบดำ และเหล็กตัวซี เป็นต้น ตามราคาเหล็กในตลาดโลก และราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) ที่มีแนวโน้มลดลง รวมทั้งการบริโภคเหล็ก ในประเทศจีนลดลงจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัทพ์ PVC ท่อ PVC และสายไฟฟ้า VCT เป็นต้น ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ได้แก่ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง และผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น (ซีเมนต์ หิน ทราย) หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นปูน สีเคลือบน้ำมัน และน้ำมันเคลือบแข็งภายใน-นอก เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นตามราคาปิโตรเลียม และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย ที่ปรับสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และอลูมิเนียมแผ่นเรียบ ฉนวนกันความร้อน จากต้นทุนวัตถุดิบปรับสูงขึ้น ส่วนหมวดสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดซีเมนต์ หมวดกระเบื้อง และหมวดสุขภัณฑ์

3. เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 7.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน และแผ่นไม้อัด เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบและค่าดำเนินการ หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 6.3 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.8 จากการสูงขึ้นของท่อระบายน้ำคอนกรีต ชีทไพล์คอนกรีต และเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง เป็นต้น ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ ได้แก่ ซีเมนต์ หิน ทราย และเหล็ก หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 12.7 จากการสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กตัวเอช ลวดผูกเหล็ก และท่อเหล็กเคลือบสังกะสี เป็นต้น ตามราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.3 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต และบัวเชิงผนัง PVC เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (ดินขาว สี) และราคาพลังงาน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ สีเคลือบน้ำมัน และซิลิโคน เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ประกอบกับมีความต้องการใช้ในการปรับปรุงบ้านมือสองเพิ่มขึ้น หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของที่ใส่กระดาษชำระ ราวแขวนผ้าติดผนัง และฝักบัวอาบน้ำ เป็นต้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.2 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC และประตูน้ำ เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก ทองแดง) และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 6.4 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย ตามการสูงขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และสินค้าในกลุ่ม อิฐ หิน ดิน ทราย ต้นทุนสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ประกอบกับมีความต้องการใช้ในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นทั้งโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลาง (การปรับปรุงซ่อมแซม)

4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนสิงหาคม ปี 2565

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนสิงหาคม 2565 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากต้นทุนวัตถุดิบ (น้ำมัน ถ่านหิน ซีเมนต์ อลูมิเนียม) ต้นทุนการผลิต และค่าขนส่ง ที่ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานราคาเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงไม่มากนัก จึงส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มอุปทานเหล็กโลกยังตึงตัว สะท้อนจากปริมาณการผลิตเหล็กดิบโลกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (มกราคม-มิถุนายน 2565) ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.5 และอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการขยายมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัว

อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ยังได้รับแรงกดดันจากความต้องการสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ชะลอตัวตามอุปสงค์โลกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศจีนจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (ZERO COVID-19) และปัญหาทางการเงินในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ