ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนตุลาคม 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 7, 2022 12:16 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนตุลาคม 2565 เท่ากับ 119.6 เทียบกับเดือนตุลาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 3.6 (YoY) สูงขึ้นในอัตราชะลอลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมีการปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและปัญหาอุทกภัย ส่งผลให้วัตถุดิบขาดแคลนและราคาวัตถุดิบนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ราคาวัสดุก่อสร้างปรับสูงขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.1 (MoM) จากหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา เนื่องจากราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบ อาทิเช่น เหล็ก น้ำมัน และถ่านหิน เป็นต้น ที่ยังปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นแรงกดดันให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนตุลาคม 2564 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 3.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 8.1 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้คาน แผ่นไม้อัด ไม้โครงคร่าว ไม้ฝา ไม้พื้น และวงกบ-บานประตู เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 6.9 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาถ่านหิน และพลังงานปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 3.8 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตบล็อกก่อผนัง-มวลเบา เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง และคอนกรีตผสมเสร็จ เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งวัตถุดิบ (เหล็ก ซีเมนต์ หิน ทราย) และพลังงาน มีการปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ท่อเหล็ก-ร้อยสายไฟ ชีทไพล์เหล็ก ลวดผูกเหล็ก ข้อต่อเหล็ก ตะแกรงสำเร็จรูป และเหล็กตัว I เป็นต้น เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนพลังงานปรับสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.8 จากการสูงขึ้นของบัวเชิงผนัง กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต ครอบสันโค้ง และกระเบื้องลอนคู่ ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ดิน หินแร่ สี) และพลังงาน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 2.5 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สีรองพื้นโลหะ สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง สีฝุ่น และสีเคลือบน้ำมัน เป็นต้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของ ที่ใส่กระดาษชำระ สายน้ำดี ฝักบัวอาบน้ำ และอ่างล้างหน้าเซรามิก เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก ดินขาว) และพลังงานสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 2.3 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ถังเก็บน้ำสแตนเลส ท่อ PE ประตูน้ำ และ ข้อต่อ-ข้องอท่อประปา เป็นต้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของอลูมิเนียมแผ่นเรียบ และฉนวนกันความร้อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ ยางมะตอย ตามการสูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

2. เทียบกับเดือนกันยายน 2565 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของบานประตู เนื่องจากผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย หมวดซีเมนต์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของคอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา และผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (เหล็ก) ปรับตัวสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กตัว I เหล็กตัว H และเหล็กรางน้ำ ตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) และต้นทุนพลังงาน ที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องลอนคู่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจาก ดิน หินแร่ และต้นทุนพลังงาน หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของสายน้ำดี และฝักบัวอาบน้ำ ตามการสูงขึ้นของวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก) หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC เนื่องจากโลหะที่ใช้เป็นวัตถุดิบ (ทองแดง) ปรับราคาสูงขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.6 จากการลดลงของท่อ PVC ปลั๊กเสียบ และข้องอ-ข้อต่อประปา เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมจึงมีการชะลอการก่อสร้าง

3. เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 6.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 5.5 จากการสูงขึ้นของแผ่นไม้อัด ไม้แบบ ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้ฝา ไม้พื้น และวงกบ-บานประตู เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 6.7 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาถ่านหิน และพลังงาน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.4 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และเสาเข็มคอนกรีต เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (เหล็ก ซีเมนต์ หิน ทราย) และต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 9.7 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย แผ่นสแตนเลส ท่อสแตนเลส ชีทไพล์เหล็ก เหล็กตัว I ลวดผูกเหล็ก และท่อเหล็กร้อยสายไฟ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ได้แก่ เศษเหล็ก ถ่านหิน และพลังงาน หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของบัวเชิงผนัง PVC กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และกระเบื้องแกรนิต เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตทั้งวัตถุดิบ (ดิน หินแร่ สี) และพลังงานปรับสูงขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.6 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ ซิลิโคน และสีทาถนน ชนิดสะท้อนแสง เป็นต้น ตามต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และพลังงาน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของที่ใส่กระดาษชำระ ราวแขวนผ้าติดผนัง และฝักบัวอาบน้ำ เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก) และพลังงานสูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.7 จากการสูงขึ้นของ ท่อ PE ถังเก็บน้ำสแตนเลส และข้อต่อ-ข้องอ-สามทางท่อประปา เป็นต้น ตามการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ (สแตนเลส เม็ดพลาสติก) และพลังงาน หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 6.2 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม และยางมะตอย ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามวัตถุดิบ และสินค้ากลุ่มวัสดุธรรมชาติ (อิฐ หิน ดิน ทราย) ตามต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น

4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2565 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนพฤศจิกายน 2565 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนตุลาคม 2565 จากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาท และค่าแรงที่ปรับขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต และค่าขนส่งยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัว

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากความต้องการเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กโลกที่ลดลงตามการชะลอทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ โดยเฉพาะจีนที่ประสบปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ การใช้มาตรการ Zero-Covid และ Covid-19 ที่กลับมาระบาดอีกครั้ง และฐานราคาในช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างสูง ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการลดราคาสินค้าวัสดุก่อสร้าง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนที่ต้องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังน้ำท่วม และการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออุปสงค์ของภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และกดดันให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ