ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน 2566 และเฉลี่ยระยะ 9 เดือนของปี 2566

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 5, 2023 11:54 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

Highlights ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกันยายน 2566เท่ากับ 108.02 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.30 (YoY)เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า (สิงหาคม 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.88) โดยมีสาเหตุสำคัญจากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชนของภาครัฐ ซึ่งมีการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้า และตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลให้หมวดพลังงานชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี จากการลดลงของราคาเนื้อสุกร เนื่องจากปริมาณเนื้อสุกรในระบบเพิ่มขึ้นผักสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น จากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต และน้ำมันพืช จากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และไข่ไก่ และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อลดลง ร้อยละ -0.36 (MoM) และเมื่อเทียบเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค. -ก.ย.) 2566 สูงขึ้นร้อยละ 1.82 (AoA)

ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.63 (YoY)เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ -0.03 (MoM)และเฉลี่ย 9เดือน (ม.ค. -ก.ย.) 2566 สูงขึ้นร้อยละ 1.50 (AoA)1. เทียบกับเดือนกันยายน 2565 สูงขึ้นร้อยละ 0.30(YoY)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้*หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.59 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.27 จากการสูงขึ้นของราคาเครื่องแบบนักเรียนอนุบาล เครื่องแบบมัธยมชายและหญิง หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 1.17 จากการสูงขึ้นของราคาแป้งทาผิวกาย กระดาษชำระและค่าแต่งผมชายหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ 1.68 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าโดยสารสาธารณะ หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.61จากการสูงขึ้นของราคาเครื่องถวายพระ และอาหารสัตว์เลี้ยง หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.62 จากการสูงขึ้นของราคาบุหรี่ สุรา และเบียร์ และกลุ่มการสื่อสาร ร้อยละ 0.12 จากการสูงขึ้นของค่าบริการใช้อินเทอร์เน็ต และค่าส่งพัสดุ ในขณะที่หมวดเคหสถานลดลงร้อยละ -0.68 จากการลดลงของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอก และน้ำยาปรับผ้านุ่ม*หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.10 ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ -6.37 จากการลดลงของราคาเนื้อสุกร และไก่สดกลุ่มผักสดร้อยละ -3.93จากการลดลงของราคาผักคะน้า ต้นหอม และพริกสด และกลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ -1.64จากการลดลงของราคาน้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก ในขณะที่มีสินค้าราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 4.58จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า และขนมอบกลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 6.93จากการสูงขึ้นของราคาไข่ไก่และนมถั่วเหลือง กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 2.42จากการสูงขึ้นของราคาแตงโม ทุเรียน และองุ่น กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 3.02 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) และกาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่มกลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 1.49จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป อาหารว่าง และก๋วยเตี๋ยว และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 1.12จากการสูงขึ้นของราคาอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) อาหารเช้า และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)

2. เทียบกับเดือนสิงหาคม 2566ลดลงร้อยละ -0.36(MoM)หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.50 โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของหมวดเคหสถานร้อยละ -1.29จากการลดลงของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอก และน้ำยาปรับผ้านุ่ม หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ -0.06 จากการลดลงของราคายาสีฟัน ผ้าอนามัย และโฟมล้างหน้า หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ -0.04จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าโดยสารเครื่องบิน สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.08 จากการสูงขึ้นของราคาเสื้อยืดบุรุษ เสื้อเชิ้ต และกางเกงขายาวเด็ก หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.03 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องถวายพระ และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.27จากการสูงขึ้นของราคาบุหรี่ สุรา และไวน์ ในขณะที่กลุ่มการสื่อสาร ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลงหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.16 โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ -0.20 จากการลดลงของราคาเนื้อสุกร ไก่สด และกุ้งขาว กลุ่มผักสดร้อยละ -3.29 จากการลดลงของราคาต้นหอม มะเขือ และผักคะน้า กลุ่มผลไม้สดร้อยละ -2.66 จากการลดลงของราคาเงาะ ลองกอง และมังคุด และกลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ -0.08 จากการลดลงของราคาอาหารโทรสั่ง (delivery) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป/แพ็คพร้อมปรุง สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 2.16 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียวและขนมปังปอนด์ กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.34จากการสูงขึ้นของราคานมเปรี้ยว และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.10 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำพริกแกง กะทิสำเร็จรูป และน้ำตาลทราย กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.04จากการสูงขึ้นของราคากาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) และน้ำแข็ง และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 0.01จากการสูงขึ้นของราคาอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

3. เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค. -ก.ย.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.82(AoA) โดยมีการเปลี่ยนแปลงของสินค้าและบริการ ดังนี้หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 3.58 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 3.85 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้า ขนมอบ และข้าวสารเหนียว กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 7.73 จากการสูงขึ้นของราคาไข่ไก่ และนมถั่วเหลืองกลุ่มผักสดร้อยละ 10.75จากการสูงขึ้นของราคามะเขือ มะนาว และขิง กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 8.63 จากการสูงขึ้นของราคาเงาะ แตงโม และส้มเขียวหวานกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 4.22 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) และน้ำอัดลม กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 3.95 จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง/ข้าวกล่อง และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 3.42 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ -0.85 จากการลดลงของราคาเนื้อสุกร และเครื่องในหมู และกลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ -0.21 จากการลดลงของราคาน้ำมันพืช มะขามเปียก และมะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด)หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.62 จากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.31 จากการสูงขึ้นของราคาเสื้อยืดสตรี เครื่องแบบนักเรียนอนุบาล และค่าจ้างซักรีดหมวดเคหสถานร้อยละ1.85 จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และค่าเช่าบ้าน หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 1.77จากการสูงขึ้นของราคาค่าแต่งผมชาย แป้งทาผิวกาย และยาสีฟัน หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 1.08 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องถวายพระหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.72 จากการสูงขึ้นของราคาเบียร์ สุรา และบุหรี่ และกลุ่มการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.08จากการสูงขึ้นของค่าบริการใช้อินเทอร์เน็ต และค่าส่งพัสดุ ในขณะที่หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารลดลงร้อยละ -0.85จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ

4. ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.52(YoY) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.71 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 2.91 กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 8.58 กลุ่มผักสดร้อยละ 1.18 กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 7.05 กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 3.74 กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านและกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านสูงขึ้นร้อยละ 1.87 และ 1.38 ตามลำดับ สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำร้อยละ -5.70 และกลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ -2.16 หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.39 จากการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.26 หมวดเคหสถานร้อยละ 1.02 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลร้อยละ 1.46 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.61 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.49 และกลุ่มการสื่อสาร ร้อยละ 0.13 ในขณะที่หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารร้อยละ -0.46 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -1.49

5. ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.39(QoQ) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.92 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดเคหสถานร้อยละ 0.57 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลร้อยละ 0.22และหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ 1.69 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.17 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.01 และกลุ่มการสื่อสาร ร้อยละ 0.04 ในขณะที่มีสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ -0.02 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.34 ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ -2.44 กลุ่มผักสดร้อยละ -5.72 และกลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ -0.25 ในขณะที่ มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 1.57 กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 3.80 กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 2.55 กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.35 กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านและกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านสูงขึ้นร้อยละ 0.07และ 0.03ตามลำดับ

6. อัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (YoY) จำแนกรายภาค เดือนกันยายน 2566

ดัชนีราคาผู้บริโภคจำแนกรายภาค พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าสูงขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค โดยอัตราเงินเฟ้อของกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มขึ้นมากที่สุด สูงขึ้นร้อยละ 0.68รองลงมา ได้แก่ ภาคใต้ สูงขึ้นร้อยละ 0.52 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงขึ้นร้อยละ 0.15 และภาคกลาง สูงขึ้นร้อยละ 0.11 ในขณะที่ภาคเหนือ ลดลงร้อยละ -0.05

เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นในทุกภาค ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง (ยกเว้นดีเซล) ไข่ไก่ และข้าวสารเจ้า เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงในทุกภาคได้แก่ เนื้อสุกร ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันดีเซล และน้ำมันพืช7. แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 4 ของปี 2566

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าจากราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ และเครื่องประกอบอาหารที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง) และสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มลดลงจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ตามภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก รวมถึงรายได้เกษตรกร และค่าจ้างเฉลี่ยที่อยู่ในระดับดี รวมทั้ง สถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังตรึงตัว สินค้าเกษตรในหลายประเทศได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ และเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง อาจเป็นแรงส่งที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวน้อยกว่าที่คาดได้

ด้วยปัจจัยดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จึงปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 จากเดิมอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 1.0-2.0(ค่ากลางร้อยละ 1.5)ในเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นระหว่างร้อยละ 1.0-1.7(ค่ากลางร้อยละ 1.35) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ