ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนธันวาคม 2566 และปี 2566

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 5, 2024 14:01 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2566 เท่ากับ 106.96(ปีฐาน 2562 =100)

เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงร้อยละ1. เดือนธันวาคม2565 (YoY)ลดลง-0.83 2. เดือนพฤศจิกายน 2566 (MoM) ลดลง-0.46 3.เฉลี่ย ปี 2566 เทียบกับ ปี 2565 (AoA) สูงขึ้น1.23 4. ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสเดียวกัน

ลดลง-0.53 ของปีก่อน (YoY) 5.ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า(QoQ) ลดลง-0.65 Highlights ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนธันวาคม 2566เท่ากับ 106.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ -0.83 (YoY)เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3และเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 34เดือน (เดือนกุมภาพันธ์ 2564ลดลงร้อยละ -1.17)โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐ รวมทั้งราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่อง จากการลดลงของราคาเนื้อสุกรและผักสดเป็นสำคัญ เนื่องจากปริมาณเนื้อสุกรในระบบที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผักสดผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ร้อยละ -0.46 (MoM)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 1.23 (AoA)(ปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 6.08) โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของราคาอาหารสด อาทิ ข้าวสารเจ้า ตามราคาในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ไข่ไก่ จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ผักและผลไม้ เนื่องจากสถานการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้การเพาะปลูกพืชสำคัญบางชนิดต้องเผชิญกับสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ผลไม้บางชนิดราคาสูงขึ้นซึ่งเป็นผลจากการส่งออกขยายตัวดีขึ้น นอกจากนี้ อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบที่ราคาเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกรและน้ำมันพืชตามอุปทานที่เพิ่มมากขึ้น และน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก และมาตรการของภาครัฐ

ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.58 (YoY)เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.06 (MoM)และเฉลี่ยทั้งปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 1.27 (AoA)

1. เทียบกับเดือนธันวาคม 2565 ลดลงร้อยละ -0.83(YoY)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้*หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -1.00 ตามการลดลงของราคาสินค้าในหมวดเคหสถานร้อยละ -0.73 จากการลดลงของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอก และน้ำยาล้างจาน และหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ -2.20จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าโดยสารรถไฟฟ้า ในขณะที่มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลร้อยละ 0.88 จากการสูงขึ้นของราคาแป้งทาผิวกายน้ำยาระงับกลิ่นกาย และกระดาษชำระ หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.66 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องถวายพระและหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.00 จากการสูงขึ้นของราคาบุหรี่ สุรา และเบียร์ และกลุ่มการสื่อสาร ร้อยละ 0.16 จากการสูงขึ้นของค่าบริการใช้อินเทอร์เน็ต สำหรับหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง*หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.63 ตามการลดลงของราคาสินค้าในสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ -6.53 จากการลดลงของราคาเนื้อสุกร และปลาทู กลุ่มผักสดร้อยละ -7.35 จากการลดลงของราคาต้นหอม มะเขือ และผักบุ้ง และกลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ -0.05 จากการลดลงของราคาน้ำมันพืช เครื่องปรุงรส และซอสหอยนางรม ในขณะที่มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 4.20 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และขนมอบ กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 6.97 จากการสูงขึ้นของราคานมถั่วเหลือง และนมเปรี้ยว กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 1.24 จากการสูงขึ้นของราคาทุเรียน ส้มเขียวหวาน และกล้วยน้ำว้า กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 2.03 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) และกาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 1.42 จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง/ข้าวกล่อง และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 0.87 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)

2. เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566ลดลงร้อยละ -0.46(MoM)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.51 โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ -0.31 จากการลดลงของราคาข้าวสารเหนียว และแป้งข้าวเจ้า กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ -0.52จากการลดลงของราคาไข่ไก่ นมเปรี้ยว และนมถั่วเหลือง กลุ่มผักสดร้อยละ -7.84 จากการลดลงของราคาผักคะน้า ต้นหอม และผักชี กลุ่มผลไม้สดร้อยละ -1.03 จากการลดลงของราคาส้มเขียวหวาน มะละกอสุก และกล้วยน้ำว้า สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ 0.34 จากการสูงขึ้นของราคาเนื้อสุกรและไก่สด กลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 0.36 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำตาลทราย น้ำมันพืช และซอสพริก กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.05จากการสูงขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำดื่ม และกาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 0.06 จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป อาหารว่าง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 0.12 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.44 โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของราคาสินค้าในหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ -0.09 จากการลดลงของราคาเสื้อเชิ้ตและเสื้อยืดบุรุษ และหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ -1.13 จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเคหสถานร้อยละ 0.04 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น และผงซักฟอก หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 0.03 จากการสูงขึ้นของราคาแชมพู ครีมนวดผม และผ้าอนามัย หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.10 จากการสูงขึ้นของราคาค่าทัศนาจรในประเทศและต่างประเทศ และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.03จากการสูงขึ้นของราคาสุรา

3. เฉลี่ยปี 2566 เทียบกับปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.23(AoA) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.56 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 4.07 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และขนมอบ กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 7.49 จากการสูงขึ้นของราคานมถั่วเหลือง และนมเปรี้ยวกลุ่มผักสดร้อยละ 6.82 จากการสูงขึ้นของราคามะนาว ขิง และผักคะน้า กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 6.82 จากการสูงขึ้นของราคาแตงโม เงาะ และส้มเขียวหวานกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 3.73 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) และน้ำอัดลม กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 3.35 จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง/ข้าวกล่อง และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 2.79 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ -2.41 จากการลดลงของราคาเนื้อสุกร และเครื่องในหมู และกลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ -0.28 จากการลดลงของราคาน้ำมันพืช มะขามเปียก และมะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด)หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.29 จากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.24 จากการสูงขึ้นของราคาเครื่องแบบนักเรียนอนุบาล เครื่องแบบนักเรียนมัธยมชายและหญิง หมวดเคหสถานร้อยละ1.21 จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และค่าเช่าบ้าน หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 1.57 จากการสูงขึ้นของราคาแป้งทาผิวกาย ค่าแต่งผมชาย และยาสีฟัน หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.96 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องถวายพระ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.79 จากการสูงขึ้นของราคาเบียร์ สุรา และบุหรี่ และกลุ่มการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.10 จากการสูงขึ้นของค่าบริการใช้อินเทอร์เน็ต และค่าส่งพัสดุ ในขณะที่หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารลดลงร้อยละ -0.98 จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ

4. ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ -0.65 (QoQ)โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -1.21 จากการลดลงของสินค้าในหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ -0.15หมวดเคหสถานร้อยละ -0.84 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ -2.31 และในขณะที่มีสินค้าที่รายการสูงขึ้น ได้แก่ หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลร้อยละ 0.09 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.12และหมวดยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.64 หมวดอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.13 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 3.04 กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 0.39 กลุ่มผักสดร้อยละ 2.62 กลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 0.28 กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.30 กลุ่มอาหารบริโภค-ในบ้านร้อยละ 0.11 และกลุ่มอาหารบริโภค-นอกบ้านร้อยละ 0.45 สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ -1.37 และกลุ่มผลไม้สดร้อยละ -4.68 5. ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ -0.53 (YoY)โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.65 จากการลดลงของสินค้าในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ -1.37 และหมวดเคหสถานร้อยละ -0.73 ในขณะที่มีสินค้าที่รายการสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.04 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลร้อยละ 1.02 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.61 และหมวดยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.02 หมวดอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.36 ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ -6.99 กลุ่มผักสดร้อยละ -3.42 และกลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ -0.53 สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 4.70 กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 6.78 กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 1.60 และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 2.27 กลุ่มอาหารบริโภค-ในบ้านร้อยละ 3.37 และกลุ่มอาหารบริโภค-นอกบ้านร้อยละ 1.80

6. อัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (YoY) จำแนกรายภาค เดือนธันวาคม 2566

ดัชนีราคาผู้บริโภคจำแนกรายภาค พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าลดลงในทุกภูมิภาค โดยอัตราเงินเฟ้อของภาคเหนือ ลดลงมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ -1.21 รองลงมาได้แก่ ภาคใต้ ร้อยละ -1.15 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ -0.98ภาคกลาง ร้อยละ -0.95 ในขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงน้อยที่สุด อยู่ที่ร้อยละ -0.26

เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าสำคัญที่ราคาลดลงในทุกภาคได้แก่ เนื้อสุกร น้ำมันพืช ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91สำหรับสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกภาค ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ไก่ย่าง และไข่ไก่7. แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ปี 2567

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมมีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ 1) มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย 2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงตาม 3) ผลกระทบจากเอลนีโญ่มีแนวโน้มลดลง และ 4) มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ EasyE-Receiptอย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเช่น ภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ เป็นต้น

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี2567อยู่ระหว่างร้อยละ(-0.3)-1.7(ค่ากลางร้อยละ0.7)ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ