ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 14:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2553 ตามที่คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ประธานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) รายงานว่า กอช. ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 เวลา 9.30 - 12.30 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นประธาน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. การจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหาร พ.ศ. 2553-2557 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รายงานผลการจัดทำแผนปฏิบัติการ และความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ต่อ คณะกรรมการ กอช. สรุปได้ ดังนี้

1.1 สาระสำคัญ

1) คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ให้ความเห็นชอบในหลักการแผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหาร พ.ศ. 2553-2557 และมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plans) โดยผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ในการจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จะดำเนินการในระยะเวลา 5 ปี พร้อมงบประมาณ และติดตามประเมินผล โดยให้สำนักงบประมาณใช้กรอบแผนแม่บทฯ ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารของแต่ละกระทรวงต่อไป

2) สศอ. ได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร ในการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plans) ภายใต้แผนแม่บทฯ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557) โดยรวบรวมแผนงาน/โครงการ และงบประมาณของแต่ละหน่วยงานที่ดำเนินการในปี 2553 และที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2554 ที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในระดับภาพรวม กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสินค้าแปรรูปขั้นต้น และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป มาเพื่อให้ คณะกรรมการ กอช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป

3) แผนงาน/โครงการ ภายใต้แผนแม่บทฯ ปีงบประมาณ 2555-2557 จะดำเนินการคัดเลือกโครงการที่แต่ละหน่วยงานนำเสนอ รวมถึงโครงการปี 2554 ที่ไม่ผ่านการพิจารณา สศอ. ได้นำเสนอให้ คณะกรรมการ กอช. พิจารณาองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองแผนปฏิบัติการ ภายใต้แผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหาร พ.ศ. 2553-2557 ที่จะแต่งตั้งเพื่อพิจารณากลั่นกรองแผนงาน/โครงการดังกล่าว ต่อไป

1.2 ความเห็นและประเด็นอภิปราย

1) เห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ ที่มีการให้ความสำคัญต่อ Resource Based อย่างไรก็ตามในเรื่องอาหารฮาลาล ควรต้องมีความชัดเจน รวมทั้งองค์ประกอบของคณะอนุกรรรมการพิจารณากลั่นกรองแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทฯ ควรมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว และผู้แทนสถาบันอาหารร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย

2) มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ต้องบูรณาการเชื่อมโยงมาตรฐานตั้งแต่วัตถุดิบ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) มาตรฐานการผลิต (กระทรวงอุตสาหกรรม) และมาตรฐานอาหาร (กระทรวงสาธารณสุข) และต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วนในการกำหนดมาตรฐาน และผลักดันให้เป็นมาตรฐานอาหารของไทยที่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น มาตรฐานของกลุ่มประเทศ EU ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะมาตรฐาน CODEX ที่มีความสำคัญต่อการส่งออกสินค้าอาหารไทย จึงจำเป็นต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ต่างประเทศ เช่น สถานทูต สำนักงานพาณิชย์ ในการติดตามกฎระเบียบ มาตรการ รวมไปถึงข้อมูลเชิงลึกต่างๆ ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับโลก เพื่อรวบรวมข้อมูล เทคโนโลยี ความต้องการตลาด และศักยภาพของคู่แข่งที่สำคัญ นำมาเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย

3) การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ควรเน้นการสร้างคุณค่า การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร โดยการลงทุนด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ตรวจสอบ และลงทุนด้านบุคลากร สร้างองค์ความรู้ด้านมาตรวิทยา องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำซึ่งต้องสร้างระบบที่เชื่อมโยงให้แต่ละภาคส่วนทำงานได้อย่างเต็มที่ และเกื้อกูลกันระหว่าง เกษตรกร SMEs รวมไปถึงช่องทางการจัดจำหน่าย โดยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทข้ามชาติ และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น Nestle (ในด้านการเป็น Supplier อาหารฮาลาล) Lotus และแฟมิลี่มาร์ท ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ความต้องการของผู้บริโภค และการสร้างตราสินค้า (Branding) ของอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

1.3 มติคณะกรรมการ กอช.

1) รับทราบยุทธศาสตร์ภายใต้แผนแม่บทอุตสาหกรรมอาหารฯ

2) มอบหมาย สศอ. ประสานฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแผนปฏิบัติการฯ และองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ และนำเสนอต่อคณะกรรมการ กอช. ในคราวต่อไป

2. การจัดตั้งสถาบันพลาสติก สศอ. นำเสนอเรื่องการจัดตั้งสถาบันพลาสติก โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 สาระสำคัญ

1) อุตสาหกรรมพลาสติก มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ก่อสร้าง เป็นต้น เกิดการสร้างรายได้กว่า 2.21 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการกว่า 3,000 ราย การจ้างงาน 3.5 แสนคน เป็น SMEs ร้อยละ 81

ปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกประสบปัญหาการชะลอตัว ความสามารถในการพัฒนาอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์พลาสติกส่วนใหญ่ของไทยเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีมูลค่าต่ำ ซึ่งมีมูลค่าเพียง 80-100 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศอ. เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก ขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชน และได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก พร้อมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งสถาบันพลาสติกขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดัน และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

2) สาระสำคัญของยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมพลาสติก ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการ การเพิ่มความสามารถทางการตลาด และการสร้างฐานข้อมูล โดยมีแผนงานโครงการเร่งด่วน ในระยะ 5 ปี ประกอบด้วย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและการจัดการ การพัฒนาบุคลากร การเสริมสร้างศักยภาพทางการตลาด และการพัฒนาศูนย์ข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงลึก งบดำเนินโครงการรวม 720 ล้านบาท โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกในช่วง 5 ปี ประกอบด้วย การเพิ่มปริมาณการผลิตเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี มูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ต่อปี (จาก 2.21 แสนล้านบาท เป็น 3.33 แสนล้านบาท หรือก่อให้เกิดรายได้ 1.11 แสนล้านบาท) และยกระดับการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

3) การบริหารงานของสถาบันพลาสติก จะอยู่ในรูปแบบองค์กรอิสระ ภายใต้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกของไทย โดยภาคเอกชนจะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสถาบัน ฯ เป็นจำนวนเงินประมาณ 10-12 ล้านบาทต่อปี

2.2 ความเห็น และประเด็นอภิปราย

1) เห็นชอบในหลักการจัดตั้งสถาบันฯ เนื่องจากอุตสาหกรรมพลาสติกมีศักยภาพสูง แต่ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกเม็ดพลาสติก ซึ่งถือเป็นต้นน้ำ หากสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกเชื่อมโยงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม จะสามารถสร้างรายได้ในประเทศได้อีกมาก นอกจากนี้สถาบันฯ ควรทำหน้าที่ดูแลผลกระทบปัญหามลภาวะที่เกิดจากอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการสถาบันฯ ส่วนหนึ่งต้องมีผู้แทน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกลไกในการควบคุม และป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม

2) แผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมพลาสติก ควรมุ่งเน้นในด้านที่ไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ และมีศักยภาพพื้นฐาน (Resource Base) และใช้ประโยชน์จากการแสวงหาความร่วมมือระดับภูมิภาค อาทิ ASEAN Economic Community (AEC) หรือความร่วมมือระดับโลก

3) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติก ในการส่งออก โดยต้องให้ความสำคัญกับระบบมาตรฐานความปลอดภัย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารที่มีการควบคุมมาตรฐานที่เข้มงวด เช่น มาตรฐานสารพิษในพลาสติก มาตรฐานการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม

2.3 มติคณะกรรมการ กอช.

1) เห็นชอบในหลักการจัดตั้งสถาบันพลาสติก โดยให้รวมการพัฒนาพลาสติกชีวภาพให้เป็นภารกิจส่วนหนึ่งของสถาบันฯ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เพิ่มเติมความเห็นของคณะกรรมการฯ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

2) ให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาหาแนวทางในการจัดสรรวงเงินงบประมาณ เมื่อการจัดตั้งสถาบันและแผนงานโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ได้ปรับปรุงบูรณาการ และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ