สรุปสถานการณ์อุทกภัย ภัยหนาว และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 16:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์อุทกภัย ภัยหนาว และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2553) ของกระทรวงมหาดไทย สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม และภัยหนาว ปี 2553 กระทรวงมหาดไทย ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง (ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม - 24 พฤศจิกายน 2553)

1. การคาดหมายลักษณะอากาศ (ระหว่างวันที่ 24 - 29 พ.ย. 2553)

1.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 24 - 29 พ.ย. 2553 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลงเล็กน้อย ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร

1.2 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในภาคใต้ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก และคลื่นลมแรงในอ่าวไทย อาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรของประชาชน และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์

2. สถานการณ์อุทกภัย

2.1 สถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 10 ต.ค. - 24 พ.ย. 2553 อันเนื่องมาจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ภาคกลาง และภาคตะวันออก และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

มีจังหวัดที่ประสบอุทกภัย และมีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวม 39 จังหวัด 417 อำเภอ 3,038 ตำบล 25,879 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 166 ราย ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,978,088 ครัวเรือน 6,934,719 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหายประมาณ 11,244,776 ไร่ ซึ่งสถานการณ์ได้คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 31 จังหวัด

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 8 จังหวัด 27 อำเภอ 215 ตำบล 1,168 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 129,855 ครัวเรือน 452,710 คน ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี

2.2 สถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 1 - 24 พ.ย. 2553 อันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวไทยตอนล่างเคลื่อนผ่านภาคใต้

มีจังหวัดที่ประสบอุทกภัย และมีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ในภาคใต้ รวม 12 จังหวัด 133 อำเภอ 856 ตำบล 5,991 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 78 ราย ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 548,258 ครัวเรือน 1,732,473 คน ซึ่งสถานการณ์ได้คลี่คลายแล้ว อยู่ระหว่างการฟื้นฟู 10 จังหวัด

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 2 จังหวัด 9 อำเภอ 73 ตำบล 641 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 58,320 ครัวเรือน 184,620 คน ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดพัทลุง

2.3 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน

2.3.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมด้วย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทน ปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายขวัญชัย วงศ์นิติกร) ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล) รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายประทีป กีรติเรขา) พร้อมคณะ เดินทางไปเยี่ยมเยียนราษฎรและมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยที่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 1,000 ชุด และเดินทางไปที่สนามกีฬาวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ เพื่อเป็นประธานจัดกิจกรรมโครงการเทิดทูนสถาบันสำคัญของชาติ เพื่อสร้างความสมานฉันท์

2.3.2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

1) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 เวลา 06.45 น. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) เป็นประธานปล่อยขบวนรถถุงยังชีพขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ที่รับบริจาค เพื่อนำไปส่งมอบให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสงขลา และเวลา 09.00 น. ร่วมกับภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน อาสาสมัคร และเทศบาลนครหาดใหญ่ ดำเนินกิจกรรมบิกคลีนนิ่งเดย์ ในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่

2) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เวลา 09.00 น. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) พร้อมคณะ เดินทางไปมอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย รวม 34 ราย ๆ ละ 50,000 บาท และมอบเงินช่วยเหลือครอบครัว ผู้ประสบอุทกภัยที่ประสบอัคคีภัยซ้ำ 1 ครอบครัว เป็นเงิน 100,000 บาท ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา จากนั้นได้เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างทางยกระดับบ้านหน้าควน ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

2.3.3 การแจกจ่ายน้ำดื่มแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยและให้กระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ร่วมกับ การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาน้ำดื่มสะอาดมอบแก่ผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งขณะนี้มีรายงานผลการแจกจ่ายน้ำ จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุรินทร์ และจังหวัดอุบลราชธานี รวม จำนวน 3,232,361 ลิตร

3. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

3.1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้พระราชทานถุงยังชีพให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทานเพื่อบรรเทา ความเดือดร้อนแก่ราษฎรในเบื้องต้น รวม จำนวน 94,850 ครอบครัว

3.2 สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย มอบชุดธารน้ำใจพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวม จำนวน 130,622 ชุด น้ำดื่ม 11,014,320 ขวด ผ้าห่ม 2,200 ผืน เสื้อกันหนาว 1,000 ตัว แก๊สหุงต้ม 1,050 ชุด หม้อเมเยอร์ 1,000 ใบ รถผลิตน้ำดื่ม 3 คัน หน่วยครัวเคลื่อนที่สภากาชาดไทย และเรือท้องแบน 7 ลำ

3.3 กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ ผู้แทนพระองค์ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม จำนวน 19,250 ชุด นมเม็ดจิตรลดา 700 ลัง และส้วมสำเร็จรูป 600 ชุด

3.4 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โปรดให้ผู้แทนพระองค์เดินทางไปมอบถุงประทานแก่ราษฎร ในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม จำนวน 17,102 ถุง และอาหารกล่อง จำนวน 3,500 กล่อง

3.5 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) และคณะ นำถุงยังชีพพระราชทานไปมอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี รวม จำนวน 1,000 ชุด

สรุปสถานการณ์ภัยหนาว และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 - 24 พฤศจิกายน 2553)

1. การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวของกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ปี พ.ศ. 2553 - 2554 ของจังหวัดขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในเขตพื้นที่ พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสภาวะอากาศหนาวเย็นที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และที่จังหวัดทุกจังหวัดด้วย

2. สถานการณ์ภัยหนาว (ระหว่างวันที่ 1 - 24 พฤศจิกายน 2553)

ในขณะนี้ได้รับรายงานจังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) เนื่องจากมีสภาพอากาศหนาว (อุณหภูมิ 8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (อุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เพชรบูรณ์ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน ขอนแก่น นครพนม เลย สกลนคร หนองคาย และจังหวัดอุดรธานี รวม 188 อำเภอ 1,326 ตำบล 15,203 หมู่บ้าน

3. การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน

3.1 จังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ทั้ง 15 จังหวัด รายงานว่าได้มอบเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนผ้าห่มกันหนาวจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สมาคม มูลนิธิ ไปแล้ว รวม 221,798 ชิ้น

3.2 บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200,000 ผืน เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ นครราชสีมา เชียงราย น่าน ลำปาง เชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

4. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว

กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น สกลนคร ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน และจังหวัดพะเยา ในระหว่างวันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2553 รวม จำนวน 9,000 ถุง นมอัดเม็ดจิตรลดา 50 กล่อง และนมสด 50 กล่อง

5. การตรวจเยี่ยมประชาชนและติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมด้วย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทน ปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายขวัญชัย วงศ์นิติกร) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายวิบูลย์ สงวนพงศ์) พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมราษฎรและมอบผ้าห่มกันหนาวในพื้นที่จังหวัดพะเยา จำนวน 4,000 ชุด

อนึ่ง จังหวัดพิษณุโลก ตามที่เกิดสถานการณ์สุกรเสียชีวิตในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 เป็นต้นมา นั้น

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 ปศุสัตว์อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ได้รับแจ้งจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอำเภอบางระกำ ว่าสุกรที่เลี้ยงมีอาการป่วยตายผิดปกติเป็นจำนวนมาก (จำนวน 660 ตัว) โดยสุกรถูกเลี้ยงบริเวณบ้านและไม่มีระบบการป้องกันโรคเข้าฟาร์ม โดยสุกรแสดงอาการซึม เป็นไข้ ไม่กินอาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดง แม่สุกรแท้งลูก ลูกที่คลอดอ่อนแอและตายในที่สุด จึงได้เก็บตัวอย่างซากสุกรป่วยส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้จากอาการในสุกรและการสอบถามเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร คาดว่าสุกร น่าจะป่วยด้วยโรค PRRS (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) สำหรับสาเหตุการเกิดโรคยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม และมีความเป็นไปได้ที่โรคดังกล่าวจะติดต่อมาจากรถรับซื้อสุกรและพ่อค้าเร่ ที่นำสุกรชำแหละมาขายในพื้นที่

ปศุสัตว์อำเภอบางระกำได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน โดยรักษาสุกรที่กำลังป่วยด้วยการให้ยาปฏิชีวนะและวิตามินแก่สุกรร่วมฝูงเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน และเสริมสร้างให้สัตว์แข็งแรง รวมทั้งแนะนำเกษตรกรและควบคุมเรื่องการฝังทำลายซากสุกรให้ถูกสุขลักษณะ มีการทำบันทึกสั่งกักสุกรป่วยไม่ให้มีการเคลื่อนย้าย อีกทั้งพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อลดปริมาณเชื้อโรค ในฟาร์ม และให้ด่านกักกันสัตว์ควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรเข้า-ออกพื้นที่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปยังพื้นที่อื่น พร้อมทั้งทำการเฝ้าระวังและค้นหาสุกรป่วยในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเกษตรกรและองค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบ ทั้งนี้เกษตรกรที่จะนำสุกรเข้าโรงฆ่า ต้องเป็นสุกรที่ไม่แสดงอาการป่วย หรือรักษาหายแล้ว โดยให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และต้องคำนึงถึงระยะตกค้างของยาในตัวสุกรด้วย นอกจากนี้ได้แจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกจากการระบาดของโรคดังกล่าวแล้ว (ข้อมูลจากสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์)

ขณะนี้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก ได้ติดตามสถานการณ์และประสานงานกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ (โรคระบาดในสัตว์) เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดครั้งนี้ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ