การขอใช้พื้นที่ป่าชายเลนเพื่อก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย — เกาะลันตาใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 11:47 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การขอใช้พื้นที่ป่าชายเลนเพื่อก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย — เกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวงชนบท) ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 วันที่ 22 สิงหาคม 2543 วันที่ 17 ตุลาคม 2543 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง การให้ระงับการใช้พื้นที่ป่าชายเลน เป็นการเฉพาะราย เพื่อให้กรมทางหลวงชนบทใช้พื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าหลังสอดและป่าควนบากันเกาะ (ป่า C) อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ประมาณ 14.19 ไร่ เพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย — เกาะลันตาใหญ่ ต่อไป ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกรมพัฒนาที่ดินในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ที่เห็นว่าหากกระทรวงคมนาคมมีความประสงค์จะขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ถาวรและป่าสงวนแห่งชาติ จะต้องพิจารณาดำเนินการขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ให้กรมทางหลวงชนบทปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ อย่างเคร่งครัดต่อไป รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดมาตรการใช้ประโยชน์ที่ดิน การควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนพาหนะให้สอดคล้องกับระบบนิเวศของเกาะลันตา ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในส่วนของงบประมาณที่จะใช้จ่ายเพื่อการก่อสร้างดังกล่าว ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคมรายงานว่า

1. จากการเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดกระบี่เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2550 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย — เกาะลันตาใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เกาะลันตา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สั่งการให้จังหวัดกระบี่ประสาน กรมทางหลวงชนบทให้เร่งดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ กรมทางหลวงชนบทจึงได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย — เกาะลันตาใหญ่เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเดินทางและลดปัญหาความเดือดร้อนจากการเดินทางของประชาชนที่เกิดขึ้นในสภาพปัจจุบันของเกาะลันตา

2. กรมทางหลวงชนบทได้จัดส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอรายงานฯ ดังกล่าวให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และโครงการร่วมกับเอกชนด้านคมนาคมพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติไม่เห็นชอบรายงานฯ ในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 กรมทางหลวงชนบทจึงได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดของรายงานฯ แล้วนำเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ครั้งที่ 11/2552 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรายงานฯ และให้นำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม แห่งชาติพิจารณา

3. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้นำรายงานฯ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 5/2553 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรายงานฯ และให้กรมทางหลวงชนบทปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และให้กรมทางหลวงชนบทนำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าชายเลน

4. พื้นที่เกาะลันตาน้อยและเกาะลันตาใหญ่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ 2 เกาะไม่เชื่อมต่อกัน ทำให้การเดินทางเข้า — ออกพื้นที่เกาะลันตาของประชาชนจะต้องอาศัยแพขนานยนต์ในการเดินทางข้ามฝากถึง 2 ช่วง (จากแผ่นดินใหญ่ — เกาะลันตาน้อย — เกาะลันตาใหญ่) ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้บริการเป็นจำนวนมาก ในขณะที่แพขนานยนต์ที่ให้บริการในแต่ละช่วงสามารถรองรับปริมาณรถยนต์ได้จำกัด จึงก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้าและอุบัติเหตุในการเดินทาง เพราะมีปริมาณรถยนต์มาจอดรอขึ้นแพขนานยนต์ในแต่ละช่วงเป็นจำนวนมากและบ่อยครั้งต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน 3 — 5 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทางเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การที่สถานที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกของรัฐ เช่น ที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา โรงพยาบาลเกาะลันตา สถานีตำรวจภูธรเกาะลันตา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเกาะลันตา และสถานศึกษา เป็นต้น ตั้งอยู่กระจัดกระจาย แต่โดยส่วนใหญ่จะอยู่บนเกาะลันตาใหญ่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเข้ารับการบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนบนพื้นที่เกาะลันตาน้อย จากสภาพปัญหาดังกล่าวทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความยากลำบากในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องขนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ปัญหาความล่าช้าในการเดินทาง ทำให้ผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตระหว่างทาง

5. การก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย — เกาะลันตาใหญ่ คาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมาเที่ยวเกาะลันตาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจของพื้นที่เกาะลันตา ต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป

6. การก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย — เกาะลันตาใหญ่ จำเป็นต้องใช้พื้นที่ป่าชายเลนบางส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรมทางหลวงชนบทได้พิจารณาทบทวนตำแหน่งก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย — เกาะลันตาใหญ่ เพื่อข้ามคลองลัดบ่อแหนแล้วพบว่าบริเวณพื้นที่สองฟากฝั่งของคลองลัดบ่อแหนไม่มีบริเวณใดสามารถหลีกเลี่ยงพื้นที่ป่าชายเลนได้ยกเว้นพื้นที่บริเวณปากอ่าวหรือปากคลองลัดบ่อแหน แต่พื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในพื้นที่บริเวณที่ 1 เขตสงวนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ข้อ 4.3) ซึ่งกำหนดให้ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารและสิ่งก่อสร้างทุกประเภท หรือกระทำการหรือประกอบกิจการใด ๆ ดังนั้น จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้

7. พื้นที่แนวสายทางโครงการฯ ส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่แนวถนนเดิม/พื้นที่ท่าเทียบแพขนานยนต์เดิม ส่วนบริเวณสองข้างทางถนนและท่าเทียบแพขนานยนต์เป็นป่าชายเลนที่มีสภาพเสื่อมโทรม โดยพื้นที่ก่อสร้างแนวสายทางโครงการฯ มีขนาดพื้นที่ทั้งหมด 23.87 ไร่ ประกอบด้วย

7.1 พื้นที่ก่อสร้างแนวสายทางโครงการฯ ที่ซ้อนทับอยู่ในเขตพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีและป่าสงวนแห่งชาติป่าหลังสอดและป่าควนบากันเกาะ (ป่า C) ประมาณ 14.19 ไร่

7.2 พื้นที่ก่อสร้างแนวสายทางโครงการฯ บริเวณจุดเริ่มต้นฝั่งเกาะลันตาใหญ่ ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีและป่าสงวนแห่งชาติ ประมาณ 4.7 ไร่

7.3 พื้นที่ก่อสร้างแนวสายทางโครงการฯ ที่อยู่ในคลองลัดบ่อแหน ประมาณ 4.98 ไร่

นอกจากนี้ เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนให้มีความสมบูรณ์ กรมทางหลวงชนบทจะดำเนินการปลูกป่าชายเลนทดแทนเพื่อชดเชยพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการฯ ประมาณ 48 ไร่ (หรือ 2 เท่าของพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ) โดยโอนงบประมาณในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนให้แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อดำเนินการปลูกป่าชายเลนในบริเวณที่เหมาะสมในพื้นที่ ป่าชายเลนบนเกาะลันตาน้อยและเกาะลันตาใหญ่ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าหลังสอดและป่าควนบากันเกาะ

8. เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเคยมีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 วันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 ระงับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนในทุกกรณี ทำให้กรมทางหลวงชนบทไม่สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ แต่โครงการฯ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเสนอขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะราย เพื่อให้กรมทางหลวงชนบทใช้พื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าหลังสอดและป่าควนบากันเกาะ (ป่า C) อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ประมาณ 14.19 ไร่

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ