ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 14/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 14:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 14/2553 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ รศก. เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ รศก. ครั้งที่ 14/2553

2. เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการ รศก. ตามข้อ 1.2 ข้อ 2.3 และ 3.3

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 14/2553 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 เวลา 10.15 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ภาพรวมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานผลการสำรวจภาพรวมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และการดำเนินการเพื่อกำกับดูแลราคาสินค้าในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการศึกษาผลกระทบของต้นทุนสินค้า โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

1.1 สาระสำคัญ

สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท พิจารณาตามลักษณะโครงสร้างต้น ทุนของสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าน้อยมาก (2) กลุ่มสินค้าที่ใช้ทั้งวัตถุดิบในประเทศและนำเข้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างน้อย และ (3) กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่อนข้างมาก การดำเนินการกำกับดูแลราคาสินค้า ได้แก่ (1) มาตรการการดูแล ประกอบด้วย มาตรการทางกฎหมาย มาตรการบริหาร และ มาตรการธงฟ้า และ (2) วิธี ดำเนินการ ได้แก่ การติดตามและจัดลำดับความสำคัญของสินค้า การติดตามราคาวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต สถานการณ์ด้านราคาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการพิจารณาต้นทุนและราคาสินค้า ตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัด ป้ายแสดงราคา จัดตั้งอาสาธงฟ้า1569 เพื่อสอดส่องดูแลราคาสินค้า เป็นต้น

ผลกระทบของต้นทุนสินค้าจากการแข็งค่าของเงินบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อ เหรียญสหรัฐ) ได้แก่ (1) กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าน้อยกว่าร้อยละ 30 จะมีภาระต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 2 ซึ่งผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการและรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้ (2) กลุ่มสินค้าที่ใช้ทั้งวัตถุดิบในประเทศและนำเข้า ซึ่งมีสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้ามากกว่าร้อยละ 30 แต่ไม่เกินร้อยละ 80 จะมีภาระต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้นประมาณร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 20 ส่งผลให้มีสินค้าบางรายการมีต้นทุนสินค้าสูงขึ้นและ (3) กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าประมาณร้อยละ 80 ขึ้นไป จะมีภาระต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้นประมาณร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 65 ได้รับผลกระทบจากภาวะราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่า

การป้องกันปัญหาผลกระทบของค่าเงินบาทต่อราคาสินค้าเกษตรและการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ได้เชิญผู้ประกอบการสินค้า มาหารือถึงผลกระทบและแนวทางแก้ปัญหาจากสภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ผู้ส่งออกมีรายได้ลดลง และขีดความสามารถการแข่งขันลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันสำคัญ คือ จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ โดยมีแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้ กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป ได้แก่ เสนอขอลดราคาอาหารสัตว์ ให้ภาครัฐสนับสนุนน้ำตาลทรายราคาพิเศษสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก ขอให้ชะลอการปรับราคาเหล็กแผ่นผลิตกระป๋อง ขอให้รับฝากหรือจำนำเงินดอลลาร์ สรอ. จากผู้ส่งออกในรูปสินเชื่อOD การกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำชดเชยค่าดอกเบี้ย กำหนดระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย ยกเว้นค่าธรรมเนียม รักษาเสถียรภาพเงินบาท และให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกทั้งระบบ

กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เสนอขอชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร (มุมน้ำเงิน) ลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ขอให้เอกชนสามารถถือครองเงินสกุลเหรียญสหรัฐฯ ได้ยาวนานขึ้น สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการบริหารจัดการและส่งออกมากขึ้น ให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำคู่มือการส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นข้อมูลติดต่อการค้าแก่ภาคเอกชนและเตรียมมาตรการรองรับปัญหาจากการส่งออก รวมทั้งการจัดงานแสดงสินค้าเพื่อกระตุ้นการส่งออก

1.2 มติที่ประชุม

รับทราบภาพรวมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของประเทศ และมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ติดตาม และกำกับดูแลการปรับราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ (1) น้ำมันพืช (2) ผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรซ์ และ (3) เครื่องแบบนักเรียน และเร่งพิจารณาราคาที่เหมาะสมต่อไป

2. การจำหน่ายกิจการโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (Thailand Privilege Card) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการจำหน่ายกิจการโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (Thailand Privilege Card : TPC) และขอให้ความเห็นชอบเงื่อนไขในเรื่องสิทธิการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวพิเศษ (Special Entry Visa) ตามมติคณะกรรมการจำหน่ายกิจการฯ โดยมีสรุปสาระสำคัญและข้อเสนอเพื่อพิจารณา ดังนี้

2.1 สาระสำคัญ

คณะกรรมการจำหน่ายกิจการฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หารือกับกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับประเด็นการถ่ายโอนสิทธิประโยชน์การถือครองวีซ่าและการอำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวพิเศษ (Special Entry Visa) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

2.1.1 สมาชิกเดิมของโครงการฯ ก็มีสิทธิได้รับการตรวจลงตราฯ และให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราที่ได้รับอยู่เดิมตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2552 และต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การมีสิทธิอยู่ในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง รวมทั้งจะต้องอยู่ภายใต้บังคับที่จะต้องมีการตรวจสอบประวัติของสมาชิกทุก 1 ปี หากพบว่ามีประวัติที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดก็จะถูกดำเนินการเพิกถอนความเป็นสมาชิกต่อไป

2.1.2 สำหรับกรณีคนต่างด้าวกลุ่มที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ หากประสงค์ที่จะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ต่อไป เช่น สิทธิได้รับการตรวจลงตราฯ และให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบในการดำเนินการจากคณะรัฐมนตรี และอยู่ภายใต้ข้อบังคับของ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

อนึ่ง กระทรวงมหาดไทยมีความเห็นเพิ่มเติมว่าเอกชนที่จะเข้าทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ ควรจะต้องได้รับสิทธิต่างๆ ในการดำเนินการตามกฎหมายจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน

2.2 ข้อเสนอเพื่อพิจารณา

คณะกรรมการจำหน่ายกิจการฯ ได้พิจารณาร่างขอบเขตของงาน (TOR) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 เห็นว่ามีเงื่อนไขที่สำคัญที่จะต้องกำหนดใน TOR เพื่อประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ดังนี้

2.2.1 การให้สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการถือครองวีซ่าและการอำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวพิเศษ (Special Entry Visa) ดังนี้ (1) สมาชิกเดิมของโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (Thailand Privilege Card) จะได้รับสิทธิการตรวจลงตราฯ ตามเดิม (2) สมาชิกใหม่ที่เข้าเป็นสมาชิกภายหลังจากการจำหน่ายกิจการบริษัท ไทยแลนด์พริวิเลจ คารด์ จำกัด (บจก.TPC) ให้ภาคเอกชนแล้ว จะได้รับสิทธิการตรวจลงตราฯ สำหรับใช้เข้าประเทศไทยได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งเป็นเวลา 5 ปี รวมถึงสิทธิการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ และสิทธิการอยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน 90 วัน เช่นเดียวกับสมาชิกเดิม (3) เห็นสมควรให้มีกรอบระยะเวลาการให้สิทธิการตรวจลงตราฯ ไว้สำหรับสมาชิกใหม่ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี และ (4) เอกชนที่รับไปดำเนินการโครงการฯ จะต้องจัดส่งทะเบียนประวัติของสมาชิกใหม่และสมาชิกเดิม เพื่อให้สำนักงานตรวจ คนเข้าเมืองตรวจสอบประวัติทุก ๆ ปี

2.2.2 จำนวนเงินชดเชยเงินลงทุนภาครัฐ จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ ททท. ในฐานะผู้ถือหุ้นได้ชำระค่าหุ้นเพื่อจัดตั้ง บจก. TPC

2.2.3 ทุนจดทะเบียนของนิติบุคคลที่จะเสนอเข้ามาดำเนินกิจการ ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

2.2.4 หลักประกันซอง ผู้เสนอขอดำเนินการจะต้องวางหลักประกันซองเท่ากับร้อยละ 5 ของทุนจดทะเบียนของ บจก. TPC

การรับโอนหนี้สินและความรับผิดชอบทางกฎหมายต่างๆ ทั้งหมดของ บจก. TPC ที่มีอยู่ และจะต้องรับสิทธิและหน้าที่ที่บริษัทมีต่อพนักงานก่อนการซื้อขายหรือโอนหุ้นไปทั้งหมด

การแก้ไขร่าง TOR ให้สอดคล้องกับระเบียบพัสดุของ ททท. ให้ ททท. จัดทำประกาศและเอกสารประมูลโครงการฯ ให้เป็นไปตามแบบประกาศประกวดราคาของ ททท. กระทรวงมหาดไทยได้ให้ความเห็นว่าในเรื่องการตรวจลงตราฯ ของสมาชิกใหม่จะต้องเสนอ คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ประกอบกับคณะกรรมการจำหน่ายกิจการฯ ได้จำกัดกรอบระยะเวลาการให้สิทธิดังกล่าวสำหรับสมาชิกใหม่ไว้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี ซึ่งการประกาศเงื่อนไขดังกล่าวจะมีผลผูกพันต่อเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการใหม่ จึงมีความจำเป็นจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการส่งเรื่องให้ ททท. ดำเนินการต่อไป

2.3 มติที่ประชุม

รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการจำหน่ายกิจการฯ และเห็นชอบในหลักการการจำหน่ายกิจการโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ (Thailand Privilege Card) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยยกเลิกสิทธิการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ สำหรับสมาชิกใหม่ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ทั้งนี้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารอผลการพิจารณาข้อกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนดำเนินการต่อไป เพื่อให้การดำเนินการการจำหน่ายกิจการโครงการบัตรสมาชิกพิเศษเป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

3. รายงานผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Doing Business 2011)

คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ได้รายงานผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Doing Business 2011) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

3.1 สาระสำคัญ

3.1.1 เมื่อ ปี 2547 ธนาคารโลก (World Bank) ได้จัดทำรายงานการวิจัยเรื่อง Doing Business แสดงผลการศึกษาการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดลำดับมีทั้งหมด 10 ด้าน ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business) การขออนุญาตก่อสร้าง (Dealing with Construction Permits) การจ้างงาน (Employing Workers) การจดทะเบียนทรัพย์สิน (Registering Property) การได้รับสินเชื่อ (Getting Credit) การคุ้มครองผู้ลงทุน (Protecting Investors) การชำระภาษี (Paying Taxes) การค้าระหว่างประเทศ (Trading Across Boarders) การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง (Enforcing Contracts) และการปิดกิจการ (Closing a Business)

3.1.2 การปรับลดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 19 ในปี 2011 จากทั้งหมด 183 ประเทศ โดยวัดประเมินตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2552 ถึง 1 มิถุนายน 2553 ลดลงจากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันคือ อันดับที่ 12 จากทั้งหมด 183 ประเทศ มีสาเหตุที่สำคัญดังนี้

ธนาคารโลกได้มีการปรับฐานการประเมินผลจากปี ค.ศ.2010 ที่ประเมินผลจากตัวชี้วัด 10 ด้าน เป็นการประเมินผลจากตัวชี้วัด 9 ด้าน ในปี ค.ศ. 2011 โดยไม่นำตัวชี้วัดด้านการจ้างงานมาร่วมในการพิจารณาจัดอันดับ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นผลให้อันดับของประเทศไทยในภาพรวมเดิมในปี ค.ศ. 2010 ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 12 ปรับเป็นอันดับที่ 16 ธนาคารโลกได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเทศต่างๆ เช่น เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น ได้ให้ความสำคัญของรายงานผลการวิจัย เรื่อง Doing Business มากขึ้น ทำให้หลายประเทศมีการพัฒนาบริการอย่างจริงจังและต่อเนื่องในอัตราเร่งจนมีผลให้อันดับกระโดดข้ามประเทศไทย สำหรับตัวชี้วัดที่ส่งผลให้อันดับของไทยปรับลดลงจากเดิม ที่สำคัญได้แก่ ตัวชี้วัดด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งธนาคารโลกเห็นว่าประเทศอื่นมีการพัฒนาในอัตราที่รวดเร็วกว่าประเทศไทย ตัวชี้วัดด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน ซึ่งในปี 2553 ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนสินทรัพย์เพิ่มขึ้น และตัวชี้วัดด้านการชำระภาษี ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนครั้งของการ ชำระภาษีสูง

3.2 ข้อเสนอเพื่อพิจารณา

รับทราบรายงานผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ ของธนาคารโลก (Doing Business 2011) พิจารณาเห็นชอบให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำการปรับปรุงการดำเนินงานในระยะสั้น และระยะยาว ดังนี้

(1) การปรับปรุงบริการในระยะสั้น ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบการส่งมอบบริการแบบหน้าต่างเดี่ยว (Single Window Service) เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่อง การชำระภาษีทุกประเภท เพื่อลดจำนวนครั้งที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้รัฐ และเพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศได้ ณ จุดบริการเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนเอกสารขั้นตอนและระยะเวลา และ 2) กำหนดมาตรการถาวรในการลดอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนทรัพย์สินที่รัฐต้องจัดเก็บ

(2) การดำเนินการในระยะยาว ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องฐาน ข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจของประเทศ ให้สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านการเริ่มต้นธุรกิจได้ครอบคลุมทุกหน่วยงาน หรือการนำระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐลดระยะเวลาเพิ่มความสะดวกแก่ภาคเอกชนและประชาชน 2) ปรับรื้อระบบการจัดเก็บภาษีของประเทศ และ 3) การแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเครดิต

3.3 มติที่ประชุม

3.3.1 รับทราบรายงานผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Doing Business 2011)

3.3.2 มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการศึกษาวิจัยแนวทางการดำเนินงานของประเทศต้นแบบที่ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับต้น ๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทย

3.3.3 มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. จัดส่งข้อมูลดัชนีชี้วัดของการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Doing Business 2011) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแนวทางการปรับปรุงการดำเนินการ และจัดส่งให้สำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อรวบรวมและนำเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเพื่อพิจารณาต่อไป มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางการปรับปรุงอายุสัญญาการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ