สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2554 ครั้งที่ 6

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 15:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2554 ครั้งที่ 6 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ประกอบด้วย สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร สถานการณ์น้ำ การจัดสรรน้ำและการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2553/2554 การช่วยเหลือด้านการเกษตรความก้าวหน้าการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2553 กรณีพิเศษ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สรุปได้ ดังนี้

สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ภัยแล้ง จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน ภัยแล้ง จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย พะเยา ลำพูน เลย อุดรธานี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ประสบภัยด้านการเกษตร 1 จังหวัด คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คาดว่าจะเสียหาย 1,681 ไร่ (เป็นพื้นที่ปลูกข้าว)

สภาพอากาศ ประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก มีอากาศเย็นในตอนเช้าและมีฝนฟ้าคะนองอยู่ในเกณฑ์เป็นแห่งๆ ถึงกระจายและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างสูง 2-3 เมตร

สถานการณ์น้ำ

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ 400 แห่ง มีปริมาณน้ำทั้งหมด ร้อยละ 65 ของความจุอ่าง เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ ร้อยละ 32 ของความจุอ่าง น้อยกว่าปี 2553 ร้อยละ 67 สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำทั้งหมด 33 แห่ง มีปริมาณน้ำทั้งหมดร้อยละ 64 ของความจุอ่าง เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ ร้อยละ 31 ของความจุอ่าง น้อยกว่าปี 2553 ร้อยละ 68

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำทั้งหมด ร้อยละ 58 ของความจุอ่าง เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ ร้อยละ 30 ของความจุอ่าง

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำ น้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 1 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำปราณบุรี และอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำ มากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จำนวน 7 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ กิ่วคอหมา.ลำตะคอง ลำพระเพลิง กระเสียว ประแสร์ บางลาง

2. สภาพน้ำท่า

ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง เจ้าพระยา และแม่น้ำมูล มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่น้ำ วัง ยม น่าน ป่าสัก และแม่น้ำโขง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

3. คุณภาพน้ำ

จุดเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และแม่กลอง พบว่า ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ(Do) ที่ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนแม่ท่าจีนและแม่กลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ

การจัดสรรน้ำและการปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2553/2554

จัดสรรน้ำไปแล้ว 10,544 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของแผน (20,144 ล้าน ลบ.ม.)

พื้นที่ปลูกแล้ว 14.03 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 91 ของแผน(15.29 ล้านไร่) แบ่งเป็น ข้าว 12.21 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 1.82 ล้านไร่

การช่วยเหลือด้านการเกษตร สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ในพื้นที่ 53 จังหวัด จำนวน 787เครื่อง รถยนต์บรรทุกน้ำ ในพื้นที่ 3 จังหวัด จำนวน 4 คัน การปฏิบัติการฝนหลวง จัดตั้งหน่วยปฏิบัติ 1 หน่วย คือ หน่วยฯอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554 ขึ้นปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 7-13 กุมภาพันธ์ 2554 จำนวน 3 วัน 7 เที่ยวบิน ยังไม่มีรายงานฝนตก

ความก้าวหน้าการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2553 กรณีพิเศษ เป็นเงิน

ความเสียหาย

ด้านพืช พื้นที่เสียหายสิ้นเชิง จำนวน 7.68 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 6.19 ล้านไร่ พืชไร่ 0.97 ล้านไร่ พืชสวนและอื่นๆ 0.52 ล้านไร่ เกษตรกร 737,405 ราย

ด้านประมง พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหาย จำนวน 158,945 ไร่ แบ่งเป็น บ่อปลา 132,920 ไร่ บ่อกุ้ง ปู หอย 26,025 ไร่ กระชัง/บ่อซีเมนต์ 459,560 ตารางเมตร เกษตรกร 123,304 ราย

ด้านปศุสัตว์ สัตว์ตาย/ สูญหาย รวมทั้งสิ้น 2,415,336 ตัว แปลงหญ้า 9,576.75 ไร่ เกษตรกร 25,603 ราย

การช่วยเหลือ

1. เงินทดรองราชการ เกษตรกร 82,495 ราย วงเงิน 207.70 ล้านบาท

2. ขอเงินงบกลาง ส่งเอกสารให้ ธกส. เพื่อขออนุมัติเงินงวดแล้วทั้งสิ้น จำนวน 67 จังหวัด วงเงิน 16,732.65 ล้านบาท และ ธกส. โอนเงินให้ ธกส. สาขา เพื่อโอนเข้าบัญชีเกษตรกรแล้ว จำนวน 58 จังหวัด วงเงิน 12,499.97 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีเกษตรกรแล้ว 459,978 ราย วงเงิน 11,582.51 ล้านบาท

ความก้าวหน้าการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม

สวนยางเสียสภาพสวน 34,608 ไร่ เกษตรกร 27,922 ราย เป็นเงิน 207.89 ล้านบาท ปลูกแทน 26,621 ไร่ เกษตรกร 6,327 ราย เป็นเงิน 292.83 ล้านบาท ปลูกซ่อม ค้ำยัน 866,770 ต้น เป็นเงิน 91.71 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 592.43 ล้านบาท (งบกลาง 287.92 ล้านบาท และงบสกย. 304.51 ล้านบาท)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ