รายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ และคลื่นสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 15, 2011 15:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลรายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ และคลื่นสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้ดำเนินการ เฝ้าระวังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ และคลื่นสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนี้

1. ดำเนินการตรวจสอบ ติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องทั้งใน และนอกประเทศอย่างใกล้ชิด

2. รวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ เพื่อแจ้งผ่านข้อความสั้น (SMS) ให้เครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์

3. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจโดยระดมผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี พร้อมจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์คาดการณ์การเดินทางของคลื่นสึนามิ พบว่าคลื่นสินามิมีโอกาสเดินทางมาถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตอนใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา

4. จัดแถลงข่าวเรื่อง“สึนามิในญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อไทยหรือไม่” โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เวลา 17.30 น. เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สื่อมวลชนและประชาชนได้ทราบข่าวสารที่ถูกต้อง

5. รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางของคลื่นสึนามิ พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 3 จังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อม

6. ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามสถานีตรวจวัดระดับน้ำทะเลแบบออนไลน์ ในประเทศใต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ตามลำดับการคาดการณ์การมาถึงของคลื่นสึนามิ ทั้งนี้หากพบคลื่นสึนามิที่ประเทศเวียดนาม จะใช้เวลาเดินทางมาถึงประเทศไทยไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง

7. ตรวจพบคลื่นสึนามิเดินทางถึงชายฝั่งประเทศฟิลิปปินส์ (พาลานาน) เมื่อเวลา 19.00 น. สูงน้อยกว่า 1.5 เมตร และประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเวลา 20.05 น. สูงน้อยกว่า 1 เมตร และอ่อนกำลังลงก่อนที่จะถึงประเทศเวียดนาม กรมทรัพยากรธรณี จึงได้แจ้งให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ เมื่อเวลา 21.30 น. ของวันที่ 11 มีนาคม 2554

8. ดำเนินการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์พร้อมตอบข้อซักถามของประชาชนผ่านทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง

9. สถานการณ์แผ่นดินไหวในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2544 — 2553) สรุปได้ดังนี้

  • แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ (มากกว่า 7 ริกเตอร์) ที่อาจก่อให้เกิดสึนามิ มีจำนวนทั้งสิ้น 125 ครั้ง
  • แผ่นดินไหวโดยรอบประเทศไทย เมื่อนับเฉพาะขนาด 5.0 ริกเตอร์ขึ้นไป เกิดขึ้นถึง 14,715 ครั้ง และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 240 คน
  • ความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทั่วโลกที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คนขึ้นไป ในรอบ 10 ปี มีจำนวน 11 ครั้ง หรือประมาณปีละ 1 ครั้ง โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ แผ่นดินไหวสุมาตรา ขนาด 9.1 ริกเตอร์ แผ่นดินไหวเฮติ ขนาด 7.0 ริกเตอร์ และแผ่นดินไหวปากีสถาน ขนาด 7.6 ริกเตอร์
  • แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในประเทศไทยมีขนาดไม่เกิน 5.0 ริกเตอร์ เกิดขึ้นจำนวน 29 ครั้ง ขนาด 5.0 ริกเตอร์ขึ้นไปเกิดเพียงครั้งเดียว ที่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 มีขนาด 5.1 ริกเตอร์ เกิดความเสียหายเล็กน้อย

10. ขณะนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี เตรียมการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยให้กับประชาชน สื่อมวลชน ได้รับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการลดผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ