รายงานความก้าวหน้าโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนประจำปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 19, 2011 17:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความก้าวหน้าโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนประจำปี 2554 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) (สำนักงาน ป.ป.ส.) ได้รับรายงานความก้าวหน้าโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ประจำปี 2554 จำแนกตามยุทธศาสตร์ ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการพัฒนาอาชีพและการตลาด

1.1 แผนงานที่ 1 การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้จากโครงการหลวงและการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

1.1.1 จัดกิจกรรมศึกษาดูงานเพื่อเรียนรู้จากโครงการหลวงด้านการเพาะปลูกพืชในระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย การเลี้ยงปศุสัตว์ การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกป่าชาวบ้าน และกระบวนการการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 317 ราย

1.1.2 จัดอบรมและสาธิตเพื่อให้ความรู้และพัฒนาทักษะเกษตรกรด้านการปลูกและเพิ่มผลผลิตพืชเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และพืชสร้างรายได้ จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ 1) พืชเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร : ข้าวไร่ ข้าวนาดำ และพืชผักสวนครัวเพื่อบริโภค 2) พืชสร้างรายได้ : พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด กาแฟอราบิก้า และไม้ผลไม้ยืนต้น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 2,896 ราย

1.1.3 จัดอบรมและสาธิตเพื่อให้ความรู้และพัฒนาทักษะเกษตรกรด้านการเลี้ยงและการควบคุมโรคในสัตว์ ได้แก่ ไก่ สุกร โค และกระบือ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 319 ราย

1.2 แผนงานที่ 2 การส่งเสริมอาชีพภาคการเกษตรและอาชีพนอกภาคการเกษตร

1.2.1 การส่งเสริมอาชีพภาคการเกษตร

(1) การส่งเสริมการปลูกพืชอาหาร

(1.1) ส่งเสริมการปลูกและเพิ่มผลผลิตข้าวไร่แก่เกษตรกร พื้นที่ 1,285 ไร่ และมีการจัดทำกฎระเบียบการยืม-คืนปัจจัยการผลิตทุกหมู่บ้าน

(1.2) ส่งเสริมการปลูกและเพิ่มผลผลิตข้าวนาดำแก่เกษตรกร พื้นที่ 386 ไร่ และมีการจัดทำกฎระเบียบการยืม-คืนปัจจัยการผลิตทุกหมู่บ้าน

(1.3) ส่งเสริมการปลูกและดูแลรักษาพืชผักเพื่อบริโภคในครัวเรือนแก่เกษตรกร พื้นที่ 30 ไร่

(2) การส่งเสริมการปลูกพืชรายได้

(2.1) ส่งเสริมการปลูกและเพิ่มผลผลิตพืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกร พื้นที่ 50 ไร่ และได้จัดตั้งกองทุนและกฎระเบียบการยืม-คืนปัจจัยการผลิตทุกหมู่บ้าน

(2.2) ส่งเสริมการปลูกและเพิ่มผลผลิตไม้ผลไม้ยืนต้นแก่เกษตรกร พื้นที่ 18 ไร่

(2.3) ส่งเสริมการปลูกและดูแลรักษากาแฟอราบิก้า จำนวน 274 ราย พื้นที่ 66.5 ไร่ โดยใช้ต้นกาแฟอราบิก้า จำนวน 237,387 ต้น

1.2.2 การส่งเสริมอาชีพนอกภาคการเกษตร ส่งเสริมการรวมกลุ่มด้านงานหัตถกรรม โดยการจัดตั้งกลุ่มหัตถกรรมเพื่อผลิตงานหัตถกรรมจำหน่ายเป็นรายได้เสริม จำนวน 10 กลุ่ม โดยมีสมาชิกรวมทั้งสิ้นจำนวน 226 ราย ผลิตภัณฑ์รวม 1,968 ชิ้น

1.3 แผนงานที่ 3 การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร

1.3.1 การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม รณรงค์ลดการใช้สารเคมีและให้บริการตรวจวัดระดับสารเคมีตกค้างในกระแสเลือด โดยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน บ้านห้วยแห้ง

1.3.2 การจัดทำแปลงเรียนรู้และแปลงสาธิตในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน จำนวน 92 แปลง โดยมีผู้เข้ามาศึกษา จำนวน 2 คณะ 43 ราย

2. ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการพัฒนาสังคม

2.1 แผนงานที่ 4 การพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเอง

2.1.1 จัดทำแผนชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน จำนวน 10 แห่ง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งสิ้นจำนวน 778 ราย และได้แผนชุมชน จำนวน 9 แผน

2.1.2 การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรชุมชน โดยสนับสนุนและจัดกิจกรรมวันชนเผ่าสามัคคีบนวิถีความพอเพียงและกิจกรรมประเพณีชนเผ่า ในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน จำนวน 10 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 2,302 ราย

2.1.3 การสนับสนุนกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มอาชีพและกลุ่มออมทรัพย์

(1) การจัดตั้งและสนับสนุนกลุ่มออมทรัพย์ โดยได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ด้วยกระบอกไม้ไผ่ จำนวน 14 กลุ่ม มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิก 376 ราย

(2) การติดตามการดำเนินงานและให้คำปรึกษากลุ่มอาชีพ จำนวน 17 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 377 ราย

2.2 แผนงานที่ 5 การพัฒนาสังคม

จัดกิจกรรมการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดใน 9 พื้นที่ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งสิ้น 784 คน

3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนากระบวนการชุมชนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด

ดำเนินการโดยเน้นให้ชุมชนเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการค้นหาและบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้เสพติด การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติด การเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่มในชุมชนเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการปลูกพืชเสพติดและการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ป้องปรามและป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน รวมทั้งเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ โดยในปี 2554 ที่ผ่านมา ได้บำบัดผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน จำนวน 145 ราย นอกจากนั้น ได้มีการจัดตั้งอาสาสมัครและแกนนำเฝ้าระวังในระดับชุมชน จำนวน 78 ราย รวมทั้งได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เพื่อ การป้องกันยาเสพติดในรูปแบบการจัดวิทยุชุมชนและเสียงตามสายหมู่บ้านร่วมกับภาคเอกชน กลุ่มเสียงสันติ สภาคริสตจักรเชียงใหม่ ในเขตอำเภออมก๋อยและใกล้เคียงจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 74 หมู่บ้าน

4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

4.1 แผนงานที่ 6 การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ดำเนินการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์โดยกระบวนการมีส่วนร่วม ฟื้นฟูพื้นที่ที่บุกรุกบริเวณที่มีความลาดชันสูง และมาตรการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มเติมโดยกระบวนการมีส่วนร่วม และนำร่างแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินสู่การประชาคมในพื้นที่ โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจัดทำโมเดล เพื่อกำหนดพื้นที่หมู่บ้านและพื้นที่ทำกิน จำนวน 5 แผน 5 พื้นที่

4.2 แผนงานที่ 7 การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารและปรับปรุงระบบนิเวศน์ต้นน้ำ

การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปลูกป่าฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร พื้นที่ 20 ไร่ โดยใช้ต้นกล้าจำนวน 100,000 ต้น

4.3 แผนงานที่ 8 การพัฒนาและจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและการปลูกหญ้าแฝก

ส่งเสริมและรณรงค์การปลูกหญ้าแฝกอย่างมีส่วนร่วม เพื่อลดการชะล้างและป้องกันการพังทลายของหน้าดิน โดยใช้หญ้าแฝกจำนวน 180,000 ต้น

5. ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการบริหารจัดการและกำกับดูแล

5.1 แผนงานที่ 9 การสร้างศูนย์ปฏิบัติการ

สร้างศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และเป็นสถานที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่

5.2 แผนงานที่ 10 สนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน

5.2.1 การประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน จำนวน 2 ครั้ง (กทม. 1 ครั้ง และจังหวัดเชียงใหม่ 1 ครั้ง) ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ จำนวน 22 หน่วยงาน

5.2.2 การประชุมคณะทำงานบริหารและประสานการดำเนินงานแผนแม่บทโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน จำนวน 3 ครั้ง จำนวน 78 ราย

5.2.3 การประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัดและคณะทำงานระดับอำเภอ ซึ่งมีการประชุมคณะกรรมระดับจังหวัด 3 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 153 ราย และการประชุมคณะทำงานระดับอำเภอ 6 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมประชุม 168 ราย

อนึ่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่ร่วมดำเนินงานตามโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ได้เสนอคำขอตั้งงบประมาณ จำนวน 331,646,200 บาท ไปยังสำนักงบประมาณ (สงป.) เรียบร้อยแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 ตุลาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ