แนวทางป้องกันการขาดแคลนยาจำเป็นจากปัญหาประสบอุทกภัย ปี พ.ศ. 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 16, 2011 11:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางป้องกันการขาดแคลนยาจำเป็นจากปัญหาประสบอุทกภัย ปี พ.ศ. 2554 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังนี้

เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยา อันเป็นผลกระทบจากสถานที่ผลิตยาประสบปัญหาอุทกภัย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การเภสัชกรรม โดยได้ตกลงว่าภาคเอกชนจะหาผู้ผลิตยาทดแทนในระยะเวลาอันสั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดแนวทางดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ดังต่อไปนี้

1. ผู้รับอนุญาตผลิตยา ที่สถานที่ผลิตได้รับความเสียหายจากอุทกภัย สามารถว่าจ้างผู้ผลิตยารายอื่นผลิตยาทดแทนได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จะสามารถกลับมาทำการผลิตได้อีกครั้ง โดยตำรับยาที่จะผลิตในสถานที่ผลิตทดแทนต้องมี สูตร ฉลาก เอกสารกำกับยา ขนาดบรรจุ เอกสารการควบคุมคุณภาพและรายละเอียดอื่น ๆ เหมือนกับทะเบียนตำรับยาเดิม แต่ให้ผ่อนผันการส่งข้อมูลการตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิต และการศึกษาความคงสภาพยาภายหลัง ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับได้ที่ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน

2. การนำเข้ายาบางรายการ โดยเจ้าของผลิตภัณฑ์ยาที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากว่าจ้างโรงงานผลิตยาที่เสียหายจากอุทกภัยจนผลิตไม่ได้ หรือกรณีที่ผู้ผลิตซึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประสงค์ที่จะนำเข้ายาจากต่างประเทศมาเพื่อทดแทนยาที่ตนผลิตไม่ได้ หากมีความจำเป็นให้ขอความร่วมมือองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้นำสั่งยา เพื่อทดแทนรายการที่ผลิตไม่ได้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานได้รับการยกเว้นการขึ้นทะเบียนตำรับยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งขณะนี้องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการสำรองยาบางส่วนเพื่อเตรียมการรองรับกรณีการขาดแคลนยา โดยมีการนำสั่งยาบางรายการไว้แล้ว

3. กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ขอความร่วมมือจาก บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งมีความพร้อมในด้านการจัดส่งสินค้าเป็นผู้กระจายยา ไปยังพื้นที่เป้าหมายทั่วทั้งประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ