รายงานผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 20, 2011 12:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตามที่พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เสนอ สรุปสาระสำคัญดังนี้

ตามที่ รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ให้มีภารกิจในการพิจารณาเสนอนโยบาย วางแผน อำนวยการ ประสานงาน กำกับดูแล และดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร่งด่วนและปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่เป็นหน่วยบัญชาการที่บูรณาการหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการอำนวยการและปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแบบเบ็ดเสร็จและให้ได้ข้อยุติ( one stop service) ฯลฯ และตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 17/2554 ที่ให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เป็นหน่วยบัญชาการตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเป็นศูนย์กลางในการสั่งการ การกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ประสบสาธารณภัย รวมทั้งมีอำนาจสั่งการ การใช้ทรัพยากร การระดมสรรพกำลังทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการฝ่ายพลเรือน พนักงานส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน การสงเคราะห์ ฟื้นฟู เยียวยา และการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ด้วย นั้น

สถานการณ์ปัจจุบัน

ในปี 2554 มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นอย่างมาก อันมีผลเนื่องจากสภาวะโลกร้อน เช่นในเดือนมีนาคมควรเป็นช่วงฤดูร้อน อากาศอบอ้าว แต่กลับมีอากาศหนาวเย็น และฝนตกในบางช่วงโดยปริมาณน้ำฝนรวมของเดือนมากที่สุดในรอบ 36 ปี (พ.ศ.2519-2554) ต่อมาในช่วงฤดูฝนมีฝนตกสม่ำเสมอ ในปี 2554 หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าปกติถึง 40-50% ประกอบกับมีอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ร่องความกดอากาศต่ำจากพายุที่เคลื่อนที่มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากเดือนมิถุนายน 2554 พายุโซนร้อน “ไหหม่า” ส่งผลให้ภาคเหนือมีฝนตกหนักมาก เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในจังหวัดแพร่ พะเยา เชียงราย น่าน ตากและสุโขทัย ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2554 ช่วงปลายเดือน พายุโซนร้อน “นกเตน” ส่งผลให้มีฝนตกชุกหนาแน่นบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร หนองคาย เลย อุดรธานี สกลนคร และนครพนม) เดือนสิงหาคม 2554 แม้ไม่มีพายุ แต่ยังมีอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และร่องความกดอากาศต่ำค่อนข้างแรง ทำให้ฝนตกชุกหนาแน่นเกือบตลอดเดือน ในเดือนกันยายน 2554 อิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และร่องความกดอากาศต่ำยังคงมีอยู่ และยังต้องรับอิทธิพลจากพายุ 2 ลูก คือ พายุโซนร้อน “ไหถ่าง” และ ไต้ฝุ่น “เนสาด” ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในเดือนตุลาคม 2554 พายุโซนร้อน “นาลแก” ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง คือ สหรัตนคร โรจนะ ไฮเท็ค บางปะอิน นวนคร บางกระดี และแฟคตอรี่แลนด์ จึงถือว่าอุทกภัยครั้งนี้ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยปรากฏ โดยมีปริมาณน้ำฝน รวมทั้งประเทศสูงกว่าค่าปกติประมาณ 32% ซึ่งปี 2496 สูงกว่าค่าปกติ 27% และปี 2513 สูงกว่าค่าปกติเพียง 23%

สำหรับสภาพของเขื่อนสิริกิต์และเขื่อนภูมิพล ในเดือนพฤษภาคม 2554 ปริมาณน้ำเขื่อนสิริกิต์ 51% เขื่อนภูมิพล 46% เขื่อนป่าสัก 31% แต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ปริมาณน้ำเขื่อนสิริกิต์เพิ่มขึ้นเป็น 85% เขื่อนภูมิพล 69% เขื่อนป่าสัก 34% ทำให้เขื่อนสิริกิต์ต้องเร่งระบายน้ำเป็นเหตุให้น้ำท่วมลุ่มแม่น้ำน่าน

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนรายเดือนที่ตกในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนของปี 2549-2554 พบว่าปริมาณฝนของปี 2554 มากกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2549-2553 เกือบทุกเดือน นอกจากนี้ยังพบว่า

ปริมาณฝนที่ตกลงบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน ในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2554 มีค่าสูงกว่าปริมาณฝนเฉลี่ยของปี 2549-2553 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 27,790 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว ส่วนหนึ่งตกลงเหนือเขื่อน และส่วนหนึ่งตกใต้เขื่อน เมื่อปริมาณน้ำจำนวนมากจำเป็นต้องระบายจากเขื่อนต่าง ๆ ไปยังแม่น้ำสายสำคัญมากกว่า 7,274 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่ภาคกลางและกรุงเทพมหานครอย่างรวดเร็ว และอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณน้ำไหลเร็วและแรง เนื่องจากการกั้นน้ำของจังหวัด และนิคมอุตสาหกรรม ทำให้แรงดันน้ำสะสม และเมื่อแนวคันกั้นน้ำหรือประตูระบายน้ำพัง น้ำจึงไหลมาท่วมด้วยความรวดเร็วและรุนแรงโดยใช้เวลาเพียง 6 วัน จากเขื่อนภูมิพลถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปัจจัยข้างต้นคือสาเหตุของมหาอุทกภัย 2554 ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่มากที่สุด และการที่มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ขวางทางเดินของน้ำ และการสร้างคันน้ำในแต่ละส่วน เป็นการทำให้มวลน้ำมีแรงอัดสูง จึงไหลลงมาด้วยความรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายจนถึงปัจจุบัน

ผลการดำเนินงาน

1. ผลการบริหารจัดการน้ำ

1.1 ผลการปฏิบัติด้านการระบายน้ำ

1) ศปภ. ได้ดำเนินการ ประเมินสถานการณ์รายวันโดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ. และข้อมูลจากสถานีวัดระดับน้ำ ของหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน , กทม, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) มาประกอบการวิเคราะห์ และมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ด้วย

2) ได้มีการหามาตรการที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำโดยผันน้ำไปทางทิศทางไหนตามความจำเป็นในสถานการณ์ ทั้งนี้ การผันน้ำฝั่งตะวันออก มีการให้ข้อมูลสถานการณ์รายวันทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และสื่อต่างๆ

3) ดำรงความพยายามไม่ปล่อยน้ำไปสู่แอ่ง หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง มากเกินไป เนื่องจากพื้นที่ ไม่เหมาะสม จึงเลี่ยงน้ำไว้ในที่สูง คือ จังหวัดฉะเชิงเทราให้มากที่สุด และระบายน้ำส่วนหนึ่งออกทางแม่น้ำบางปะกงให้มากที่สุด ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จและสามารถระบายน้ำฝั่งตะวันออก ของ กทม. ที่ท่วมขังได้อย่างรวดเร็ว

4) ฝั่งตะวันตกของ แม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีปริมาณน้ำหลากมากกว่าเป็นจำนวนมากจึงทำให้ระบบบริหารจัดการน้ำทำได้ยาก ทำให้เกิดน้ำขังบริเวณกว้าง อย่างไรก็ตามมาตรการเพิ่มเครื่องสูบ ประกอบกับการซ่อมแซมคันกั้นน้ำที่ชำรุด จึงทำให้สามารถลดระดับน้ำ และระยะเวลาที่เกิดน้ำท่วมขังได้เร็วกว่าปล่อยธรรมชาติ อย่างน้อย 10- 20 วัน ถ้าไม่มีการบริหารจัดการน้ำต่าง ๆ โดยผ่านการประสานจาก ศปภ. น้ำจะท่วมยาวนานกว่านี้ และพื้นที่จำนวนมากจะมีน้ำท่วมขังนานกว่า 31 ธันวาคม 2554 แน่นอน

1.2 ผลการปฏิบัติการด้านการป้องกันน้ำท่วม

ดำเนินการอำนวยการให้ กทม.ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ กทม.ชั้นใน โดยใช้ Big Bag และการบริหารจัดการประตูระบายน้ำต่างๆ ทำให้ปริมาณน้ำท่วม ในกรุงเทพฯชั้นในไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้ (สถานการณ์เลวร้ายสุด) (Worst Case Scenario) คือ สามารถตรึงแนวน้ำไว้ที่คลองบางซื่อและทำให้พื้นที่รอดได้ ซึ่งถ้าไม่มีมาตรการนี้

น้ำจะท่วมถึงคลองแสนแสบเป็นอย่างน้อยและติดตามขุดลอก คูคลองในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งให้การสนับสนุนน้ำมัน เครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำโดยประสานกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งได้ร่วมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

โดยการทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย ลดความขัดแย้ง เสนอแนะผ่านสื่อต่างๆ ตามความเหมาะสม

2. ผลการช่วยเหลือประชาชน

2.1 การอพยพประชาชน

วางแผนการเคลื่อนย้าย และจัดเตรียมที่พักอาศัยให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยมีคำสั่ง ศปภ. ที่ 34/2554 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2554 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายประชาชนผู้ประสบอุทกภัย มีผลการปฏิบัติ ดังนี้

1) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพไทย อำนวยการอพยพผู้ประสบอุทกภัย ตามแผนการเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล จำนวน 2 ครั้ง รวม 678 คน (เคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 324 คน จากเขตสายไหมไปยังศูนย์พักพิงวิทยาลัยพลศึกษา จ.ชลบุรี เมื่อ 29 ตุลาคม 2554 และเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 354 คน ในเขตดอนเมืองไปยัง มทบ.14 จ.ชลบุรี เมื่อ 31 ตุลาคม 2554)

2) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก ได้สนับสนุนการขนย้ายผู้ประสบอุทกภัย มายังพื้นที่ปลอดภัยเพื่อกลับไปยังภูมิลำเนาหรือเข้าพักอาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่ส่วนราชการ และองค์กรการกุศล จัดเตรียมไว้ โดยมียอดการอพยพประชาชนรวมมากกว่า 800,000 คน

3) ศูนย์ปฏิบัติการช่วยผู้ประสบอุทกภัยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดกำลังอำนวยความสะดวกการจราจรและรถนำขบวนในการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และนครราชสีมา รวมทั้งสิ้น 381,066 คน

2.2 การอำนวยความสะดวกการเดินทางและขนส่ง

1) ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพไทย จัดยานพาหนะรับ-ส่งประชาชนในพื้นที่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ มีผู้โดยสารรวม 9,110,114 คน

2) บริษัทขนส่งจำกัด จัดรถโดยสารจำนวน 9 คัน ขนย้ายผู้ป่วย 230 คน, จัดรถโดยสาร 50 คัน ขนส่งผู้โดยสารเดินทางกลับภูมิลำเนา เส้นทางภาคเหนือ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 473 คน จัดเดินรถทุกเส้นทางจากต้นทางถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ทั้ง 3 แห่ง จำนวน 160,415 เที่ยว วิ่งเสริม 6,013 เที่ยว

3) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารบริการประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมที่รถเล็กไม่สามารถลุยน้ำได้ และขนย้ายไปยังศูนย์พักพิง รวม 3,136,755 คน

4) ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดรถบรรทุกสิบล้อและรถบิ๊กฟุตบริการรับ-ส่งประชาชนในเขตกรุงเทพปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้นกว่า 200 คัน จัดสายตรวจทางเรือรับ-ส่งประชาชนไปขึ้นรถสาธารณะ จำนวน 261 เส้นทาง โดยใช้เรือยนต์และเรือยางที่ได้รับจาก ศปภ. จำนวน 1,148 ลำ

2.3 การจัดตั้งโรงครัว

1) จัดตั้งโรงครัว (ดำเนินการโดย พม.) (พื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด) จำนวน 125 แห่ง (ดำเนินการในศูนย์พักพิง จำนวน 44 แห่ง, นอกศูนย์พักพิง จำนวน 81 แห่ง) ผลิตอาหารแจกจ่าย รวม 4,138,781 กล่อง

2) จัดตั้งครัวรัฐบาล (ดำเนินการโดย พม. ร่วมกับ สตช.) ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 63 แห่ง ดำเนินการในศูนย์พักพิง 31 แห่ง ผลิตอาหารกล่องแจกจ่าย เฉลี่ยวันละ 45,072 กล่อง และดำเนินการนอกศูนย์พักพิง 32 แห่ง ผลิตอาหารกล่องแจกจ่าย เฉลี่ยวันละ 361,887 กล่อง

2.4 การช่วยเหลือประชาชนผ่าน Call Center

ติดตามความเดือดร้อนของประชาชนจากข้อมูลร้องทุกข์ที่ผ่านทางสายด่วนและจากการติดตามและวิเคราะห์ข่าว รวมทั้งการรับแจ้งจากเจ้าหน้าที่และประชาชน ซึ่งมีจำนวนเรื่องร้องทุกข์ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2554 จำนวนสายโทรเข้า 1,666,810 สาย ดำเนินการแก้ปัญหาได้สำเร็จ จำนวน 1,600,416 สาย คิดเป็น 96%

2.5 การผลิตและแจกจ่ายน้ำดื่ม

1) กรมทรัพยากรน้ำ ผลิตน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคแจกจ่ายประชาชน 2,883,400 ลิตร, น้ำดื่มบรรจุขวด 86,248 ขวด

2) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผลิตน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคแจกจ่ายประชาชน จำนวน 5,391,899 ลิตร

2.6 การจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดตั้งและเป็นหน่วยงานกลางดูแลควบคุมศูนย์พักพิงชั่วคราวของส่วนราชการอื่น ในพื้นที่ 33 จังหวัด (รวมกรุงเทพฯ) จำนวน 2,540 ศูนย์ ผู้เข้าพักพิง 216,391 คน ขณะนี้ (15 ธ.ค.2554) ปิดศูนย์ฯไปแล้ว 23 จังหวัด คงเหลือ 562 ศูนย์ ยอดคงเหลือในศูนย์พักพิง 8,272 คน

2.7 การแจกจ่ายถุงยังชีพ

1) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แจกจ่ายถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 903,661 ถุง

2) ศปภ.จังหวัดที่เกิดอุทกภัย ได้จัดหาและแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยอีกส่วนหนึ่ง

2.8 การช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข

1) สำนักการแพทย์ กรุงเทพฯ โรงพยาบาลในสังกัด 8 แห่ง และศูนย์บริการแพทย์ฉุกเฉิน กทม.(ศบฉ.) ดำเนินการรักษาผู้ป่วยนอก 37,162 ราย ผู้ป่วยใน 9,596 ราย, ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 850 ครั้ง ผู้รับบริการ 4,952 ราย แจกจ่ายยาเวชภัณฑ์ 59,389 ราย,บริการตรวจรักษาในศูนย์พักพิง 4,952 ราย เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากที่พัก 749 ราย

2) กระทรวงสาธารณสุข บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จำนวน 9,854 ครั้ง ผู้รับบริการ 2,021,078 ราย ตั้งโรงพยาบาลสนาม 17 แห่ง ผู้รับบริการ 84,027 ราย

3) กรมสุขภาพจิต ออกหน่วยแพทย์เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด โดยเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิต 320 ครอบครัว คัดกรองปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 125,762 ราย เครียดสูง 7,521 ราย, มีอาการซึมเศร้า 9,730 ราย, เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 1,744 ราย ต้องติดตามดูแลพิเศษ 2,827 ราย ให้ยาทางจิตเวช 8,731 ราย

3. ผลการอนุมัติจัดสรรงบประมาณ

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 วันที่ 18 ตุลาคม 2554 และวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมวงเงิน 5,000 ล้านบาท

สรุปสถานการณ์การใช้จ่ายงบกลาง ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2554 ได้ดังนี้

1. คณะกรรมการ ศปภ. ด้านงบประมาณพิจารณาอนุมัติ 2,984.4005 ล้านบาท โดยพิจารณาจัดสรรให้แก่ 13 กระทรวง 25 หน่วยงาน สามารถจำแนกตามลักษณะภารกิจ ได้เป็นด้านการป้องกัน 673.9287 ล้านบาท ด้านการอพยพ 831.3338 ล้านบาท ด้านส่งกำลังบำรุง 270.0922 ล้านบาท ด้านการผันน้ำ 1,209.0458 ล้านบาท

2. มีเรื่องที่จะต้องพิจารณาอีก จำนวน 1,622.1280 ล้านบาท

3. คงเหลือวงเงินที่จะอนุมัติได้ จำนวน 393.4715 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายที่ส่วนราชการต่างๆ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการรวบรวมเอกสารเพื่อขอสนับสนุนงบกลางอีกจำนวนหนึ่ง โดยศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) จะได้รายงานความคืบหน้าให้ทราบในโอกาสต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ธันวาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ