ขออนุมัติงบกลางเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 22, 2012 10:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอดังนี้

1. อนุมัติค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย (ประกอบด้วย โครงการโชห่วย ช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” และโครงการมหกรรมธงฟ้าลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย) จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,800 ล้านบาท โดยการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

2. เห็นชอบให้ พณ. แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชนและให้นำความเห็นของกระทรวงการคลังไปดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

1. ในปี 2554 ประเทศไทยประสบกับภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรงในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ประชาชนได้รับความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง ผลผลิตทางการเกษตรต่างได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะหมวดอาหาร เช่น ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ ฯลฯ มีราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางกลับกันรายได้ประชาชน เกษตรกรโดยรวมลดลงมาก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาวะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าหลายชนิดโดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ประชาชนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และผู้มีรายได้น้อย เช่น ลูกจ้างรายวัน ผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดได้รับความเดือดร้อนอย่างมากและไม่สามารถรับภาระที่เพิ่มขึ้นได้

2. พณ. มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบริหารจัดการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นกรณีพิเศษ แต่เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับเป็นงบประมาณเพื่อดำเนินการในการลดภาระค่าครองชีพประชาชนในสถานการณ์ปกติ ไม่เพียงพอในการฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนที่กำลังรอความช่วยเหลือทั้งในด้านสินค้าอุปโภคบริโภคและด้านอาหาร จึงเสนอขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อดำเนินโครงการลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย โดยมีโครงการย่อย 2 โครงการ ดังนี้

2.1 โครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” โดยการบริหารจัดการเพื่อลดค่าใช้จ่ายคนไทยโดยเฉพาะในด้านอาหารสำเร็จรูปและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น โดยให้ร้านอาหารธงฟ้าได้มีโอกาสใช้สินค้าธงฟ้าเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นมาตรการในการตรึงราคาอาหารสำเร็จรูปในตลาด และสนับสนุนให้ร้านค้าในชุมชน (ร้านโชห่วย) และร้านอาหารธงฟ้าเป็นแหล่งกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในราคาประหยัดภายใต้ชื่อ “ร้านถูกใจ” ดังนี้

2.1.1 หลักการ เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน เพิ่มการแข่งขันในตลาด เป็นฐานราคาจำหน่าย และเพื่อชะลอการปรับราคา

2.1.2 เป้าหมาย การส่งเสริมร้านค้าในชุมชน (ร้านโชห่วย) และร้านอาหารธงฟ้า จำนวน 10,000 แห่ง แยกเป็นกรุงเทพมหานคร 2,000 แห่ง ส่วนภูมิภาค (7,267) ตำบล จำนวน 8,000 แห่ง โดยกำหนดแผนงาน ระยะที่ 1 เริ่มเดือนมีนาคม 2555 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ (เขตอำเภอเมือง)15 จังหวัด ระยะที่ 2 เริ่มเดือนพฤษภาคม 2555 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

2.1.3 สินค้าที่จะจัดจำหน่าย (Top Items 20 รายการ) หมวดอาหาร 12 รายการ ได้แก่ ข้าวสาร (ของรัฐ) ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ผงชูรส น้ำปลา ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นม UHT ซอสปรุงรส เนื้อสุกร เนื้อไก่ หมวดของใช้ 8 รายการ ได้แก่ สบู่ ยาสีฟัน แชมพู ผงซักฟอก แป้งผงโรยตัว น้ำยาล้างจาน ผ้าอนามัย ยากำจัดยุงและแมลง

2.1.4 แนวทางดำเนินการ คัดเลือกร้านอาหารธงฟ้าและร้านค้าในชุมชนในกรุงเทพมหานคร 50 เขต และ 7,267 ตำบล ใน 76 จังหวัด โดยดำเนินการ ดังนี้

(1) สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การจำหน่ายอาหารและค่าบริหารจัดการในการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น

(2) ประสานผู้ประกอบการ (Suppliers) เพื่อสนับสนุนสินค้าและวัตถุดิบในราคาต่ำกว่าท้องตลาด รวมทั้งจัดทำสินค้า House Brand จำหน่าย โดยให้การสนับสนุนค่าบริหารจัดการและการกระจายสินค้า

(3) ประสานบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และผู้ขนส่งสินค้าทั่วไปในการจัดส่งสินค้าให้ร้านค้า โดยจะมีการสนับสนุนค่าขนส่งให้

(4) จัดจ้างบุคลากรวุฒิปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาท เพื่อติดตามกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าประจำทุกเขตในกรุงเทพมหานครและทุกอำเภอของทุกจังหวัดประมาณ 1,000 คน

(5) ประชาสัมพันธ์เพื่อจูงใจผู้เข้าร่วมโครงการโดยใช้หลักการ CSR และเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้การดำเนินโครงการอย่างทั่วถึง

2.1.5 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท

2.2 โครงการมหกรรมธงฟ้าลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย โดยการจัดงานจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาประหยัดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 969 ครั้ง วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท แยกเป็นส่วนกลาง เป็นการจัดงานขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3 ครั้ง ๆ ละ 30 ล้านบาท รวม 90 ล้านบาท ส่วนภูมิภาค ดำเนินการในระดับภาค ๆ ละ 2-4 ครั้ง ๆ ละ 2.5 -3 ล้านบาท รวม 12 ครั้ง วงเงิน 32.7 ล้านบาท ระดับจังหวัด 76 จังหวัด ๆ ละ 600,000 บาท รวม 45.6 ล้านบาท และระดับอำเภอ 878 อำเภอ ๆ ละ 150,000 บาท รวม 131.7 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสซื้อสินค้าประมาณ 5 ล้านคน และสามารถลดค่าครองชีพประชาชนได้ประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาท ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 400-500 ล้านบาท เป็นการเพิ่มการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ลดภาวะการเลิกจ้างงาน และเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น

2.3 กลไกการส่งเสริมและกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักนายกรัฐมนตรี และกรุงเทพมหานครร่วมเป็นกรรมการเพื่อกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชนไทยช่วยไทย และกำกับดูแลการดำเนินโครงการลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย โดยให้มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ซึ่งมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชนระดับจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและดำเนินการโครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” และโครงการมหกรรมธงฟ้าลดค่าครองชีพไทยช่วยไทย ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตามลำดับ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ