ยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 9, 2012 11:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และกำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

นายกรัฐมนตรีในการประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 เห็นชอบยุทธศาสตร์ แนวทาง และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่คณะทำงานเพื่อบูรณาการเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐเสนอ โดยเฉพาะการร่วมกันปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาหน่วยงานของตนเองให้มีความโปร่งใส ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น แบ่งออกเป็น 6 แนวทางหลักและอื่น ๆ ดังนี้

1) การปลุกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ (Awareness Building Approach) : มุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกและทัศนคติเชิงบวกในการสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งให้กับสังคมไทย ครอบคลุมทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ควบคู่ไปกับการปลูกฝัง สร้างค่านิยมที่อยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง โดยอาศัยกลไกของสังคมเป็นการลงโทษผู้กระทำผิดหรือทุจริตคอร์รัปชั่น

2) การพัฒนาองค์การ (Organization Development Approach) : มุ่งเน้นการพัฒนาองค์การทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นองค์การสีขาว มีการดำเนินการป้องกันและลดความเสี่ยงที่เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ตลอดจนวางระบบคัดกรองบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งในระบบราชการที่คำนึงถึงความมีเหตุผลทางคุณธรรม (Moral Reasoning) หรือความสามารถทางด้านจริยธรรม (Ethicability)

3) การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม (Participatory Approach) : มุ่งเน้นการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการดำเนินงานของภาครัฐ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการเปิดเผยและมีส่วนร่วม อันจะทำให้ภาคส่วนอื่นในสังคมได้เข้ามามีส่วนรับรู้ ตรวจสอบ หรือร่วมในกระบวนการใด ๆ เพื่อให้กลไกการดำเนินการมีความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใส และน่าเชื่อถือ

4) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย (Legal Approach) : มุ่งเน้นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เป็นเครื่องมือป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนยกระดับมาตรฐานกฎหมายด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต (UNCAC) รวมถึงการแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่เอื้อไปสู่พฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ

5) การตรวจสอบ เฝ้าระวังเชิงรุก (Surveillance Approach) : มุ่งเน้นการวางกลไกการตรวจสอบและเฝ้าระวังในเชิงรุก ทั้งกลไกการเฝ้าระวังของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กลไกการตรวจสอบตามกฎหมาย ตลอดจน การเชื่อมโยงและบูรณาการการรับแจ้งเบาะแสและเรื่องร้องเรียนให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงการวางระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ

6) การปราบปรามที่จริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด (Suppression Approach) : มุ่งเน้นการดำเนินการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง รวมถึงการกำหนดมาตรการในการลงโทษที่เข้มงวดและรุนแรงขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัว และเกรงกลัวต่อการประพฤติที่มิชอบ

7) อื่น ๆ เช่น การร่วมมือทางวิชาการกับรัฐบาล หรือองค์การระหว่างประเทศ และอื่น ๆ เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นต้น

2. แผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการดำเนินการในระยะแรกที่คาดว่าจะก่อให้เกิดผลสำเร็จเร็วและก่อให้เกิดผลต่อเนื่องในระยะต่อไป โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานภายใต้ 4 แนวทาง ดังนี้

1) การปลุกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้

  • การสร้างข้าราชการไทยหัวใจสีขาว : เป็นการรณรงค์สร้างความตื่นตัว และสร้างต้นแบบการเป็นข้าราชการที่ดี ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยการค้นหาข้าราชการและประชาชนที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม เพื่อจุดประกายให้สังคมได้รับรู้ รับทราบ ถึงคุณค่าที่เกิดจากการกระทำความดี รวมทั้งการวางหลักสูตรอบรมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  • การมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติและกำหนดบัญชีรายชื่อข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์สุจริต หรือมีผลงานในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น : เป็นการดำเนินการด้านบวกในการกระตุ้นจิตสำนึกของคน (ข้าราชการ) และสร้างความรับรู้ในทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดค่านิยมการยกย่องเชิดชูคนดี โดยการกำหนดให้มีการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีผลงานประจักษ์ชัดแจ้งในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึง การกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินเลื่อนขั้น หรือแต่งตั้งในตำแหน่งที่สูงขึ้น
  • การติดเครื่องหมายสัญลักษณ์แสดงการอาสาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น : เป็นการสร้างความตื่นตัวและปลุกจิตสำนึกข้าราชการในระดับปฏิบัติการให้บริการประชาชน รวมทั้งสร้างความละอายต่อการประพฤติมิชอบในหน้าที่ และการรับอามิสสินจ้างอันมิชอบ โดยการจัดทำตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการประกาศตนไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ และกำหนดให้ข้าราชการที่อาสาติดตราสัญลักษณ์ติดชื่อแสดงตนเมื่อให้บริการประชาชน รวมทั้งจัดทำป้ายสัญลักษณ์ในการประกาศเจตนารมณ์ที่จะไม่รับสินบนหรือคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ตลอดจนจัดให้มีช่องทางการร้องเรียนหากพบการทุจริตคอร์รัปชั่นติดตั้งในศูนย์บริการประชาชนทุกแห่งของรัฐ

2) การพัฒนาองค์การ โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้

  • การสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ (Clean Initiative Program) : เป็นการส่งเสริมให้ส่วนราชการริเริ่มจัดทำข้อเสนอข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการของตนเอง โดยมุ่งเน้นพัฒนาหรือปรับปรุงกระบวนการหลักที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Action Learning) ซึ่งเป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาที่เกิดจากความเต็มใจและยอมรับร่วมกันจากผู้ปฏิบัติงานภายในหน่วยงานเอง อันจะเป็นการขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการเสริมสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการอย่างแท้จริงและยั่งยืน
  • การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น : เป็นการจัดตั้งกลไกเพื่อทำหน้าที่ในการบูรณาการและขับเคลื่อนแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีสถานะเป็นส่วนราชการตามนัยของมาตรา 31 วรรคสองแห่งกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน รายงานขึ้นตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการ รวมทั้งทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

3) การตรวจสอบ เฝ้าระวังเชิงรุก โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้

  • การจัดตั้งศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption War Room) : เป็นศูนย์ปฏิบัติการในการบูรณาการด้านการตรวจสอบ รับแจ้งเบาะแสและเรื่องร้องเรียน ป้องกัน และปราบปราม อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร ณ จุดเดียว ( One-Stop Service) รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศและรายงานการดำเนินงานไปยังศูนย์บัญชาการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ได้

4) การปราบปรามที่จริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้

  • การประกาศลงโทษผู้กระทำผิดการทุจริตคอร์รัปชั่น : เป็นการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการทุจริตในภาครัฐและประกาศลงโทษให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อสร้างความตื่นตัวและเกรงกลัวต่อการกระทำการทุจริต ควบคู่ไปกับการให้โอกาสกับผู้ที่ต้องการกลับตัวอย่างแท้จริง

3. เพื่อเป็นการประกาศยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและแผนงานเชิงรุกของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยเชิญคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงระดับกรมและจังหวัด ตลอดจนผู้แทนจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคท้องถิ่น เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 พฤษภาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ