โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 13, 2012 11:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางนลินี ทวีสิน) เสนอ สำหรับกรอบวงเงินในการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางนลินี ทวีสิน) เสนอว่า

1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (6 มี.ค. 55) มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางนลินีฯ) รับเรื่องนี้ไปพิจารณาทบทวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ สศช. เป็นหน่วยประสานงานและบูรณาการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการฯ มีความชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ นั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางนลินี ฯ) ได้มอบหมายให้ สศช. จัดประชุมหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 และวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 และ สกว. ได้นำข้อสรุปจากที่ประชุมไปปรับรายละเอียดโครงการฯให้มีความชัดเจนแล้ว ดังนี้

1.1 กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้รับทุน โดยแยกเป็นเกณฑ์สำหรับทุนวิจัยเพื่อสร้างผลงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาโท ทุนวิจัยเพื่อสร้างผลงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาเอก และทุนวิจัยเพื่อสร้างผลงานที่เป็นนวัตกรรมหรือแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรม

1.2 กำหนดสาขาวิชาที่จะให้ทุนตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. 2555-2574 และโครงการ Flagship แผนบริหารราชการแผ่นดิน โดยแยกเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเร่งด่วน และสาขาอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในลำดับรอง

1.3 กำหนดเงื่อนไขการศึกษาและหลังสำเร็จการศึกษา โดยกำหนดให้นักศึกษาต้องชดใช้ทุนที่ได้รับไปในกรณีที่ไม่สามารถศึกษาจนสำเร็จการศึกษาและไม่มีผลงานที่อุตสาหกรรมจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้วจะไม่มีข้อผูกมัดในการทำงานชดใช้ทุนในภาครัฐ แต่จะต้องทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาอย่างน้อยเท่ากับระยะเวลาที่ได้รับทุน หากไม่ปฏิบัติตามนี้ จะต้องชดใช้เป็นเงินจำนวน 2 เท่าของทุนที่รับไป ซึ่งอาจลดลงตามสัดส่วนของการปฏิบัติตามข้อผูกมัด

2. นอกจากนี้ สกว. ได้ปรับรายละเอียดโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมตามความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยดังนี้

2.1 เพิ่มกระบวนการกำหนดหัวข้อวิจัยร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างสกว.นักวิจัยและภาคอุตสาหกรรมในขั้นตอนการดำเนินงาน

2.2 กำหนดสัดส่วนการให้ทุนในสาขาวิชาของกลุ่มอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เป็นร้อยละ 70-80 : 20-30

2.3 กำหนดให้คุณภาพของผลงานวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เป็นอีกมาตรการหนึ่งในการประกันคุณภาพนักวิจัยและกำหนดให้มีตัวชี้วัดเชิงเศรษฐศาสตร์

2.4 เพิ่มกระบวนการติดตามความก้าวหน้าของโครงการตลอดจนมีการหารืออย่างใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมตลอดกระบวนการรับทุน

2.5 กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมโดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการในการกำหนดนโยบายและการบริหารโครงการ

2.6 แบ่งแผนการให้ทุนและงบประมาณที่ต้องใช้เป็น 2 ระยะ ระยะแรก 8 ปี และระยะที่สอง 7 ปี โดยจะจัดให้มีการประเมินหลังจากระยะที่หนึ่ง หากได้ผลดี จึงจะดำเนินการต่อในระยะที่สอง

2.7 กำหนดให้มีการประชุมประจำปี เพื่อเผยแพร่/ถ่ายทอดผลงานวิจัยสำหรับโครงการที่เสร็จแล้วและไม่มีเงื่อนไขในการปกปิดความลับ และจัดให้มีการเยี่ยมชมโครงการวิจัย

3. แนวทางหลักในการดำเนินการ

3.1 การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อสร้างผลงานวิจัย พร้อมกับนักวิจัยระดับปริญญาโทเป็นการให้ทุนวิจัยซึ่งมีโจทย์วิจัยมาจากภาคอุตสาหกรรมแก่อาจารย์ที่ปรึกษาโดยมีนักศึกษาระดับปริญญาโทเป็นผู้ช่วยวิจัย ทุนละประมาณ 300,000 บาท เพื่อเป็นค่าหน่วยกิต ค่าวิจัย ค่าใช้จ่ายประจำเดือนนักศึกษา และค่าตอบแทนอาจารย์ที่ปรึกษา

3.2 การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อสร้างผลงานวิจัย พร้อมกับนักวิจัยระดับปริญญาเอก เป็นการให้ทุนวิจัยซึ่งมีโจทย์วิจัยมาจากภาคอุตสาหกรรมแก่อาจารย์ที่ปรึกษาโดยมีนักศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นผู้ช่วยวิจัย ทุนละประมาณ 1,700,000 บาท เพื่อเป็นค่าหน่วยกิต ค่าวิจัย ค่าใช้จ่ายประจำเดือนนักศึกษา ค่าตอบแทนอาจารย์ที่ปรึกษา และค่าเดินทางต่างประเทศสำหรับอาจารย์ที่ปรึกษา นักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาต่างประเทศ ในกรณีที่นักศึกษาไปทำวิจัยในต่างประเทศช่วงระยะเวลาหนึ่ง

3.3 การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อสร้างผลงานที่เป็นนวัตกรรมหรือแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรม เป็นการให้ทุนสนับสนุนการสร้างงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมหรือเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยมีประเด็นปัญหาจากภาคอุตสาหกรรม ทุนละประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนวิจัยและค่าตอบแทนนักวิจัย โดยภาคอุตสาหกรรมจะมีส่วนร่วมสนับสนุนทุนด้วย

3.4 การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายนักวิจัยระหว่างนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาและนักวิจัยในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนนักวิจัยในต่างประเทศ เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้นักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาและนักวิจัยในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนนักวิจัยในต่างประเทศเกิดความร่วมมือในลักษณะเครือข่าย

4. แผนการให้ทุน

ช่วงแรกของการให้ทุนซึ่งเป็นช่วงเตรียมการและปรับวิธีการให้เหมาะสมที่สุด จะเริ่มที่ 200ทุนสำหรับทุนวิจัยเพื่อสร้างนักวิจัยระดับปริญญาโท และ 100 ทุนสำหรับทุนวิจัยเพื่อสร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอก และจะค่อย ๆ เพิ่มในแต่ละปีจนมีจำนวน 1,000 คนต่อปีในแต่ละระดับ สำหรับการให้ทุนวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมและแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมจะเริ่มที่ 10 ทุนในปีแรก และค่อย ๆ เพิ่มทุกปีจนถึง 100 ทุนต่อปี รวมระยะเวลาสนับสนุนทุนทั้งสิ้น 15 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 โดยแบ่งการให้ทุนออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 เป็นเวลา 8 ปี (2556-2563) ระยะที่ 2 เป็นเวลา 7 ปี (2564-2570)

ทั้งนี้ จะมีการประเมินหลังจากระยะที่ 1 หากได้ผลดี ก็จะดำเนินการต่อในระยะที่ 2 โดยมีการกำหนดสาขาวิชาที่จะให้ทุนตามกลุ่มอุตสาหกรรมโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1) สาขาวิชาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. 2555-2574 และโครงการ Flagship แผนบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีสัดส่วนของจำนวนทุนประมาณร้อยละ 70-80 ของจำนวนทุนในแต่ละปี ในกลุ่มสาขาอุตสาหกรรม

2) สาขาวิชาในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือกลุ่มที่ 1 โดยมีสัดส่วนของจำนวนทุนประมาณ 20%-30% ของจำนวนทุนในแต่ละปี

5. เงื่อนไขการศึกษาและหลังสำเร็จการศึกษา

5.1 หากนักศึกษาที่ได้รับทุนไม่สามารถศึกษาจนสำเร็จการศึกษาและไม่มีผลงานที่อุตสาหกรรมจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นักศึกษาจะต้องชดใช้ทุนที่ได้รับไปในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับนักศึกษาและการวิจัย

5.2 เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้ว จะไม่มีข้อผูกมัดในการทำงานชดใช้ทุนในภาครัฐ เนื่องจากโครงการฯ มีวัตถุประสงค์ในการผลิตนักวิจัยแก่ภาคอุตสาหกรรม แต่จะต้องทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาอย่างน้อยเท่ากับระยะเวลาที่ได้รับทุน หากไม่ปฏิบัติตามนี้ จะต้องชดใช้เป็นเงินจำนวน 2 เท่าของทุนที่ได้รับไป ซึ่งอาจลดลงตามสัดส่วนของการปฏิบัติตามข้อผูกมัด

5.3 บัณฑิตส่วนมากควรจะสามารถหางานได้ในภาคอุตสาหกรรมที่ตนได้ทำวิจัย เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญและเข้าใจปัญหาของอุตสาหกรรมในสาขานั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดกลางอีกจำนวนหนึ่งที่คาดการณ์ว่าจะมีการขยายการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา จะสามารถดูดซับบัณฑิตเหล่านี้ได้ อนึ่ง บัณฑิตส่วนหนึ่งน่าจะสามารถทำงานเป็นที่ปรึกษาแก่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังไม่สามารถตั้งหน่วยวิจัยและพัฒนาเองได้ ทั้งนี้ หากพิจารณาจำนวน SME ในประเทศซึ่งมีหลายล้านราย จำนวนบัณฑิตที่โครงการนี้สร้างขึ้น จะเป็นสัดส่วนที่น้อย นอกจากนี้หากพิจารณาประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาต่อ GDP และมีนักวิจัยต่อประชากร สูงกว่าประเทศไทยเป็นสิบเท่า จะสามารถประมาณการได้ว่า ตลาดงานจะสามารถรองรับบัณฑิตเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ