แผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 21, 2012 10:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการแผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำโครงการแก้ไขปัญหามาบตาพุดในระยะต่อไป

2. อนุมัติในหลักการการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการแก้ไขปัญหามาบตาพุด โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการประชุม ครั้งที่ 5 /2555 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 พิจารณาเรื่อง แผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร ของ สศช. โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. แผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร ประกอบด้วย สภาพปัญหาในพื้นที่และการแก้ไขปัญหาในระยะที่ผ่านมา ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และแผนงาน/โครงการภายใต้แผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร ปี 2555-2559 สรุปได้ดังนี้

1.1 พื้นที่เป้าหมาย พื้นที่เขตควบคุมมลพิษตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ วันที่ 30 เมษายน 2552 ประมาณ 260,660 ไร่ ครอบคลุม 6 ตำบล ใน 3 อำเภอ ได้แก่ ตำบลมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง ตำบลเนินพระ ตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา และตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง

1.2 ปัญหาสำคัญในพื้นที่

(1) ปัญหาด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มลพิษทางอากาศ น้ำ ขยะมูลฝอย อุบัติภัยสารเคมีรั่วไหล

(2) ปัญหาด้านสังคม ได้แก่ ปัญหาสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ มะเร็ง ภาวะแทรกในการตั้งครรภ์ ระบบสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ/บริการสาธารณสุขไม่เพียงพอ ประชาชนมีการศึกษาค่อนข้างต่ำ ไม่ตรงกับความต้องการโรงงาน และขาดแคลนแรงงานฝีมือ

(3) ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ โครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกมาก และการกระจายผลประโยชน์ในรูปงบประมาณ เงินอุดหนุนไม่สอดคล้องกับรายได้ที่สร้างให้ประเทศ ขณะที่ประชาชนต้องแบกรับภาระผลกระทบจากอุตสาหกรรม

(4) ปัญหาด้านกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านการขนส่งแออัด การจราจรติดขัด ประปาไม่เพียงพอ แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม และการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมรุกล้ำพื้นที่กันชน

(5) ปัญหาด้านการบริหารจัดการ เช่น การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ทำให้ประชาชนขาดความไว้วางใจ

2. การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหามาบตาพุดในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (มกราคม 2552 — ธันวาคม 2554) โดยหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

(1) การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด และ

(2) การวางระบบเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ดังนี้

2.1 การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุด

(1) การแก้ไขปัญหาเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน เน้นแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชน ปัญหาขาดแคลนน้ำประปา ปัญหาขยะ ความไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพอากาศ น้ำ และการลดมลพิษ โดยหน่วยงานต่างๆ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีมาโดยลำดับรวม 4 ครั้ง จำนวน 32 โครงการ วงเงินรวม 1,432 ล้านบาท ปัจจุบันส่วนใหญ่ดำเนินการแล้วเสร็จและบางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างปรับปรุงท่อและขยายเขตจำหน่ายน้ำประปาในพื้นที่อำเภอเมืองระยอง พื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุดและเทศบาลเมืองบ้านฉาง การจัดซื้อรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่จำนวน 2 คัน การให้บริการตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดไปแล้วจำนวน 10,238 คน และ 20,571 คน ในปี 2553 และปี 2554 ตามลำดับ สำหรับปี 2555 มีเป้าหมายตรวจสุขภาพประชาชนจำนวน 15,000 คน ในส่วนของการพัฒนายกระดับโรงพยาบาลมาบตาพุดให้เป็นโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ ขนาด 200 เตียง ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง นอกจากนี้ได้ดำเนินการติดตั้งชุดตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายแบบต่อเนื่อง (VOCs) และป้ายแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำนวน 4 สถานี แล้วเสร็จ เป็นต้น

(2) การแก้ไขปัญหามลพิษจากแหล่งกำเนิด กรมควบคุมมลพิษได้กำหนดประเภทอุตสาหกรรม/กิจกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษจากสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) รวม 6 ประเภท และอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ทบทวนนโยบายและมาตรการการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรม/กิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อลดการปล่อยมลพิษแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการตรวจสอบและควบคุมการรั่วซึมของสารอินทรีย์ระเหย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2555 สำหรับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พื้นที่อำเภอเมืองและพื้นที่ใกล้เคียง จังหวัดระยอง กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการแล้วเสร็จในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล

(3) การจัดทำแนวป้องกัน (Protection Strip) ระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน กรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ประสานผู้ประกอบการ 46 รายดำเนินการ ปัจจุบันแล้วเสร็จ 40 ราย รวมพื้นที่ปลูกต้นไม้กว่า 1,000 ไร่

2.2 การวางระบบเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว

(1) การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมนิเวศมาบตาพุด จังหวัดระยอง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และอยู่ในขั้นตอนจัดทำรายงานการยกระดับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

(2) การจัดทำผังเมืองรวมอุตสาหกรรมหลักและชุมชนมาบตาพุด จังหวัดระยอง อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการประสานงานวางและจัดทำผังเมือง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมโยธาธิการและผังเมือง

(3) การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง ที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2555-2559) วงเงินรวม 1,669 ล้านบาท ปี 2555 ได้รับงบประมาณ 73 ล้านบาท

(4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษช่วงพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งกรมทางหลวงศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำรวจและออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาแหล่งเงินดำเนินการ

3. แนวทางการแก้ไขปัญหามาบตาพุด ประกอบด้วย 8 แนวทาง ดังนี้

3.1 ลดและขจัดมลพิษต่อเนื่อง มุ่งสู่สิ่งแวดล้อมสะอาด โดย

(1) พัฒนาระบบข้อมูลและระบบติดตามเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส และเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชน

(2) พัฒนาและปรับปรุงระบบจัดการน้ำเสียและขยะทั้งในและนอกพื้นที่เขตอุตสาหกรรมบริเวณมาบตาพุดและพื้นที่โดยรอบอย่างครบวงจร

(3) วางระบบการจัดการกากของเสียอันตราย

(4) สนับสนุนการลดและขจัดมลพิษจากแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมในพื้นที่

(5) เตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยอย่างต่อเนื่อง และ

(6) ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ แนวทางนี้จะสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง พ.ศ. 2555-2559 ซึ่งจังหวัดระยองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

3.2 ยกระดับบริการสาธารณสุขเฉพาะโรคและคุณภาพชีวิต ปรับปรุงและยกระดับบริการสาธารณสุขเชี่ยวชาญเฉพาะโรค และวางระบบข้อมูลเพื่อจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับจำนวนประชากรแฝงในพื้นที่ โดย

(1) สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม จังหวัดระยอง

(2) พัฒนาระบบบริการปกติให้สามารถรองรับความเจ็บป่วยจากสิ่งแวดล้อม

(3) สนับสนุนการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนในเขตควบคุมมลพิษและบริเวณใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง

(4) ปรับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ให้ทันสมัยพร้อมสำหรับการเฝ้าระวังสุขภาพ

(5) สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสมลพิษกับผลกระทบต่อสุขภาพ และ

(6) สนับสนุนการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเชิงรุก

3.3 ยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรเฉพาะทางให้สามารถรองรับกิจกรรมในพื้นที่ และปรับปรุงคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กที่ย้ายถิ่นกลางคันตามแรงงานอพยพ

3.4 พัฒนาสู่อุตสาหกรรมนิเวศ โดยเร่งรัดผลักดันการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมนิเวศมาบตาพุด จังหวัดระยองให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้ดำเนินธุรกิจภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)

3.5 พัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะด้านการเกษตรและด้านการท่องเที่ยว

3.6 พัฒนาขีดความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานและจัดสรรการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องถนน ระบบประปา ระบบขนส่งมวลชน การขนส่งสินค้าระบบราง การขนส่งทางเรือ และการจัดสรรทรัพยากรน้ำ เป็นต้น

3.7 ส่งเสริมการใช้ผังเมืองรวมในการพัฒนาพื้นที่ จัดพื้นที่สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมให้ชัดเจน จัดระบบโลจิสติกส์ให้เหมาะสม และศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่ายและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

3.8 การบริหารจัดการ สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง จังหวัดระยอง พิจารณามาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสียภาษีที่จังหวัดระยอง และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตบริหารรูปแบบพิเศษ

4. แผนงาน/โครงการภายใต้แผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร พ.ศ. 2555-2559 ประกอบด้วย 8 แผนงาน 92 โครงการ วงเงินรวม 4,347.6669 ล้านบาท (ระยะเวลา 5 ปี พ.ศ. 2555-2559)

            แผนงาน                             จำนวนโครงการ      วงเงิน(ล้านบาท)
        รวม                                         92             4,347.6669*
แผนงาน 1  ลดและขจัดมลพิษต่อเนื่อง มุ่งสู่                    41             1,760.6298
 สิ่งแวดล้อมสะอาด
แผนงาน 2  ยกระดับบริการสาธารณสุขเฉพาะ                  25               936.2642
 โรคและคุณภาพชีวิต
แผนงาน 3  ยกระดับคุณภาพการศึกษา                         4                67.3301
แผนงาน 4  พัฒนาสู่อุตสาหกรรมนิเวศ                         2                11.0000
แผนงาน 5  พัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มี                  4                27.1600
 ความหลากหลาย
แผนงาน 6  พัฒนาขีดความสามารถด้านโครงสร้าง               14             1,522.5628
 พื้นฐานและจัดสรรการใช้ประโยชน์อย่างมี
 ประสิทธิภาพและเป็นธรรม
แผนงาน 7  ส่งเสริมการใช้ผังเมืองรวมในการ                  1                18.0000
 พัฒนาพื้นที่
แผนงาน 8  การบริหารจัดการ                              1                 4.7200
หมายเหตุ  *รวมงบประมาณของหน่วยงานเอง เช่น งบของ กนอ. / ผู้ประกอบการ / อบจ.ระยอง ซึ่งเมื่อหักงบประมาณส่วนนี้แล้วคงเหลือวงเงิน 3,749.9169 ล้านบาท

          5. ข้อวิเคราะห์
             5.1 พื้นที่มาบตาพุดจังหวัดระยอง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ ซึ่งจะยังคงบทบาทการเป็นฐานการผลิตหลักด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานของประเทศในระยะต่อไป เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่มาบตาพุดเป็นที่ตั้งของกลุ่มอุตสาหกรรมจำนวน 5 นิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย
          (1) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
          (2) นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด)
          (3) นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย
          (4) นิคมอุตสาหกรรม RIL และ
          (5) นิคมอุตสาหกรรมผาแดง มีมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมกว่า 971,000 ล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 5 ของประเทศ และมีความพร้อมในเชิงโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมหลักมากกว่าพื้นที่อื่นของประเทศ หากปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม รวมทั้งการแก้ไขปัญหามาบตาพุดจะเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งหากการดำเนินงานไม่ประสบผลสำเร็จหรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและเป็นอุปสรรคในการเปิดพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมหลักแห่งใหม่ของประเทศในระยะต่อไป
             5.2 การแก้ไขปัญหามาบตาพุดเพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้อย่างมีดุลยภาพ มีความเกี่ยวข้องในหลายด้าน อาทิ การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ อุบัติภัยฉุกเฉินจากสารเคมี กากของเสียอุตสาหกรรม ขยะชุมชน ความไม่พอเพียงของสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ การจัดการระยะห่างระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน การดูแลสุขภาพประชาชน และการพัฒนามาบตาพุดเป็นเมืองอุตสาหกรรมนิเวศ จำเป็นต้องมีแผนงานหลักในการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจรที่จะบูรณาการการแก้ปัญหาทั้งระบบอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติ
             5.3 แผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจรมีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ในยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ในด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งสนับสนุนการอยู่ร่วมกันของอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศเพื่อเตรียมพร้อมไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการควบคุมและลดมลพิษ เพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชน
             5.4 แผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร จัดทำโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมาโดยลำดับ (มีนาคม-กันยายน 2554) ตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ การรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดจังหวัดระยอง การจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน ตลอดจนการจัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก  เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา แนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ พิจารณาให้ความคิดเห็นต่อร่างแผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร จัดทำข้อเสนอโครงการ ตลอดจนกลั่นกรองโครงการที่สมควรบรรจุในแผนดังกล่าว
             5.5 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
          6. คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้พิจารณาแผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 โดยคณะกรรมการฯ มีมติ เห็นชอบในหลักการแผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร โดยให้ สศช. นำความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาปรับแผน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำโครงการแก้ไขปัญหามาบตาพุดในระยะต่อไป รวมทั้งขออนุมัติพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการแก้ไขปัญหามาบตาพุดต่อไป โดยมีความเห็นเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้
             6.1 แผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจร ควรเพิ่มมิติการพัฒนาด้านสังคมในประเด็นการให้ความรู้ประชาชนด้านการดูแลสุขภาพ และการจัดการสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นปัจจัยหลักที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพิ่มการทบทวนด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นในแผน และแนวทางการป้องกันมลพิษที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
             6.2 โรงงานในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด การเกิดปัญหาอุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม จะเกิดขึ้นจากคนหรือผู้รับเหมาที่เข้าไปซ่อมบำรุงเครื่องจักรในโรงงาน ซึ่งต้องเป็นคนที่มีจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยสูง ดังนั้นการพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด รวมถึงจะต้องเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยและการมีวินัยอย่างเข้มงวด
             6.3 ควรมีการศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องการโยกย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละแห่งจะปล่อยมลพิษออกมาไม่เกินมาตรฐาน แต่เมื่อตรวจวัดมลพิษในพื้นที่จากการปล่อยมลพิษรวมทุกโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว พบว่าค่าเกินมาตรฐาน การแก้ไขโดยการลดและขจัดมลพิษอาจใช้งบประมาณจำนวนมาก ในขณะที่การย้ายชุมชนออกจากพื้นที่อาจใช้งบประมาณน้อยกว่า โดยอาจกำหนดเป็นการดำเนินการในระยะยาวและต้องมีการสำรวจความเห็นของประชาชนด้วย
             6.4 ควรเร่งดำเนินการศึกษาการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยและเตรียมการรองรับเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
          ทั้งนี้ สศช. ได้ปรับปรุงแผนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดอย่างครบวงจรในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว






          --ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มิถุนายน 2555--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ