(ร่าง) มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 9, 2013 10:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอดังนี้

1. เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือตอนบนปี 2556

2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำ (ร่าง) มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือตอนบนปี 2556 ไปปฏิบัติโดยใช้งบประมาณปกติของหน่วยงานต่อไป

สาระสำคัญ

1. กรอบแนวคิดของ (ร่าง) มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด ปี 2556 อยู่บนพื้นฐานการบูรณาการของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงภาคเอกชน และประชาชน โดยใช้หลักการ 2P2R ได้แก่ 1) การป้องกัน (Prevention) 2) การเตรียมพร้อม (Preparation) 3) การรับมือ (Response) และ 4) การฟื้นฟู (Recovery) โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1.1 เพื่อควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควัน โดยเน้นการดำเนินมาตรการควบคุมการเผาในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า

1.2 เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์หมอกควันที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2556

1.3 เพื่อผลักดันความร่วมมือในการจัดการปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน

1.4 เพื่อลดและควบคุมสถานการณ์หมอกควัน และป้องกันผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชน

2. เป้าหมาย คือ คุณภาพอากาศในบรรยากาศ (ฝุ่นละอองขนาดเล็ก: PM10) อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ในช่วง 80 วันอันตราย (21 มกราคม 2556 ถึง 10 เมษายน 2556) ในพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก

3. มาตรการหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด ตามหลักการ 2P2R ประกอบด้วย 8 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 ควบคุมการเผาช่วง “80 วัน อันตราย” มาตรการที่ 2 ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างเข้มข้น มาตรการที่ 3 สนับสนุน “ชุมชนมาตรฐาน หมู่บ้านปลอดการเผา” มาตรการที่ 4 ส่งเสริมภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายเข้าร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควัน มาตรการที่ 5 สื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกสู่กลุ่มเป้าหมาย มาตรการที่ 6 แจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควัน มาตรการที่ 7 ขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน และ มาตรการที่ 8 จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด (ศปม.) โดยแบ่งมาตรการตามหลักการ 2P2R ดังนี้

3.1 การป้องกัน (Prevention) การดำเนินงานเพื่อป้องกันการเกิดปัญหามลพิษหมอกควันจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย สังคม และเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมาตรการ ดังนี้ 1) ควบคุมการเผาช่วง “80 วันอันตราย” 2) ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างเข้มข้น 3) สนับสนุน “ชุมชนมาตรฐาน หมู่บ้านปลอดการเผา” 4) ส่งเสริมภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายเข้าร่วมป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควัน 5) สื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกสู่กลุ่มเป้าหมาย

3.2 การเตรียมพร้อม (Preparation) การบูรณาการข้อมูลต่างๆ เพื่อวิเคราะห์และสั่งการ โดยประมวลผลจากข้อมูลคุณภาพอากาศ ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา จำนวนจุดความร้อน เพื่อเตรียมความพร้อมในการระงับเหตุอันเกิดจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง อีกทั้งยังมีการเตรียมการด้านการแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควันเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ประกอบด้วยมาตรการ ดังนี้ 1) ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างเข้มข้น 2) สื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกสู่กลุ่มเป้าหมาย 3) แจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควัน 4) ขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน 5) จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด (ศูนย์เฉพาะกิจฯ ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล)

3.3 การรับมือ (Response) การบูรณาการโดยใช้ระบบ Single Command ในการควบคุมและบัญชาการเหตุการณ์ในกรณีเกิดสถานการณ์หมอกควัน ตามระดับความรุนแรงของปริมาณฝุ่นละออง ตั้งแต่ระดับที่ 1 ถึงระดับที่ 4 ประกอบด้วยมาตรการดังนี้ 1) ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างเข้มข้น 2) แจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควัน 3) ส่งเสริมภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายเข้าร่วมป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควัน 4) สื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกสู่กลุ่มเป้าหมาย 5) จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด (ศปม.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยเป็นประธานกรรมการร่วม

3.4 การฟื้นฟู (Recovery) เป็นการดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอันเกิดจากสถานการณ์หมอกควัน ประกอบด้วย ส่งเสริมภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายเข้าร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควัน

4. การดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันในภาคเหนือ 9 จังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการบูรณาการและประสานงานตามหน้าที่ของหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายที่กำหนด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มกราคม 2556--จบ--


แท็ก ภาคเหนือ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ