ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 6, 2013 09:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ข้อเท็จจริง

ศธ. เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า

1. การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐและเป็นส่วนราชการ ทำให้ต้องดำเนินงานภายใต้ระบบราชการที่ใช้แนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกับทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาจะแตกต่างกับภารกิจของส่วนราชการอื่น เพราะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ ซึ่งต้องอาศัยความคล่องตัวและความอิสระเป็นเครื่องมือในการทำงานที่เหมาะสมกับสภาพมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับแนวนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลเพื่อสร้างสรรค์ปัญญาแก่สังคม ซึ่งการอยู่ภายใต้ระบบราชการทำให้มีข้อจำกัดในการดำเนินการตามภารกิจบนพื้นฐานหลักการอุดมศึกษาที่ต้องจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคน เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2541 เกี่ยวกับมาตรการปรับขนาดกำลังคนภาครัฐว่าไม่ให้ส่วนราชการเพิ่มอัตราใหม่ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 วันที่ 1 มิถุนายน 2542 วันที่ 31 สิงหาคม 2542 และวันที่ 14 มีนาคม 2543 เห็นชอบหลักการแผนปฏิบัติการในการดำเนินการปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ รวมทั้งอนุมัติหลักการให้มหาวิทยาลัยของรัฐจ้างลูกจ้างในลักษณะการจ้างพิเศษที่มีวาระการจ้างที่กำหนดเวลาชัดเจนแทนการบรรจุข้าราชการใหม่ เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ภายหลังจากที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว สถาบันอุดมศึกษาได้บรรจุบุคลากรเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีกฎหมายรองรับสถานะในการทำงาน สิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการ รวมทั้งบุคลากรที่เป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวสมควรปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็นแนวทางดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเผยแพร่ให้ทราบ มีการประชุมชี้แจงและประชาสัมพันธ์ จัดประชุมผ่านกลไกในระดับต่าง ๆ แล้ว

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น และเป็นนิติบุคคล

2. กำหนดวัตถุประสงค์ การแบ่งส่วนงาน และหน้าที่ของส่วนงานการรับสถานศึกษาอื่นเข้าสมทบ และอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย

3. กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีรายได้จากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และเงินกองทุนที่รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้น และรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุน เป็นต้น และให้รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมาย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

4. กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการซึ่งเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่ง และคณาจารย์ประจำตามที่กำหนด กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง และให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

5. กำหนดให้มีสภาธรรมศาสตร์สัมพันธ์ ประกอบด้วย ผู้แทนจากองค์กรตามที่กำหนด และให้สภาธรรมศาสตร์สัมพันธ์มีหน้าที่ตามที่กำหนด

6. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย อธิการบดีเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง และให้คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

7. กำหนดให้มีคณะกรรมการวิชาการ ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้คณะกรรมการวิชาการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

8. กำหนดให้มีสภาอาจารย์ และสภาพนักงานมหาวิทยาลัย โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด และให้จำนวน คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนการประชุม เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

9. กำหนดให้อธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

10. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย

11. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการบัญชีและการตรวจสอบทางบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัย ให้อธิการบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัย

12. กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณฯ การดำรงตำแหน่งและคณะกรรมการต่าง ๆ ส่วนราชการ การโอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานของมหาวิทยาลัย ตำแหน่งทางวิชาการ ตลอดจนระเบียบข้อบังคับ หรือประกาศที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ