ขออนุมัติลงนามและดำเนินการให้สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือกันทางการศาลในคดีแพ่งและพาณิชย์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 24, 2013 12:09 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติลงนามและดำเนินการให้สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือกันทางการศาลในคดีแพ่งและพาณิชย์

ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี มีผลใช้บังคับ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือกันทางการศาลในคดีแพ่งและพาณิชย์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐเกาหลี และอนุมัติให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงนามสนธิสัญญาฯ

2. ให้กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สนธิสัญญา ฯ มีผลใช้บังคับตามแต่จะได้ตกลงกับฝ่ายสาธารณรัฐเกาหลีต่อไป

3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างสนธิสัญญาฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนาม ขอให้สำนักงานศาลยุติธรรมสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของร่างสนธิสัญญา ฯ มีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับสนธิสัญญาประเภทนี้ที่ประเทศไทยจัดทำกับประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรสเปน และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยกำหนดเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือกันทางการศาลในคดีแพ่งและพาณิชย์ระหว่างภาคีทั้งสองฝ่าย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ภาคีทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือกันในการส่งเอกสาร การสืบพยานหลักฐานและการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศทางกฎหมายและข้อมูลคดีที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ในคดีแพ่งและพาณิชย์

2. คนชาติของภาคีแต่ละฝ่ายจะได้รับความคุ้มครองทางการศาลเช่นเดียวกันกับที่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งให้แก่คนชาติของตน รวมถึงนิติบุคคลซึ่งก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายของภาคีฝ่ายหนี่ง และมีภูมิลำเนาอยู่ในอาณาเขตของภาคีฝ่ายนั้น

3. ภาคีแต่ละฝ่ายมีสิทธิปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือหากเห็นว่า จะกระทบต่ออธิปไตยความมั่นคง หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาล

4. การดำเนินการตามคำร้องขอต้องไม่เป็นเหตุให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เว้นแต่ การส่งเอกสารโดยเจ้าหน้าที่ของศาลหรือบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมายด้วยวิธีการส่งเอกสารเป็นพิเศษ หรือการสืบพยานหลักฐานที่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือล่าม

5. เจ้าหน้าที่ทางการทูตหรือกงสุลของภาคีแต่ละฝ่ายอาจส่งเอกสารทางการศาลให้แก่คนชาติของตนหรือสอบปากคำคนชาติของตน ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งและจะใช้มาตรการบังคับอย่างใด ๆ มิได้

6. พยานบุคคลอาจปฏิเสธที่จะเบิกความ หากเป็นผู้มีเอกสิทธิ์ ความคุ้มกัน หรือมีหน้าที่ที่จะปฏิเสธการเบิกความ

7. สนธิสัญญาฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อครบกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันที่ภาคีทั้งสองฝ่ายได้แจ้งต่อกันเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านวิถีทางการทูตว่า แต่ละฝ่ายได้ปฏิบัติตามมาตรการที่จำเป็นตามกฎหมายภายในของตนเพื่อให้สนธิสัญญานี้มีผลใช้บังคับแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 เมษายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ