สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 14, 2013 06:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และมอบหมายให้ส่วนราชการให้ความสำคัญกับการเร่งรัดดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ให้มีผลเป็นที่ยุติด้วยความเป็นธรรมโดยไม่ชักช้า ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สปน.ได้ประมวลผลสถิติการร้องทุกข์ (ร้องทุกข์หมายรวมถึงร้องทุกข์ ร้องเรียน แจ้งเหตุ แจ้งเบาะแส ติชม เสนอความคิดเห็น) และผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนที่มีมาถึง นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จำแนกตามประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้

1. สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์ของประชาชน จำแนกตามช่องทางการร้องทุกข์ (4 ช่องทาง) ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ประชาชนแจ้งเรื่องร้องทุกข์ผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 24,577 ครั้ง โดยผ่านช่องทางสายด่วนของรัฐบาล 1111 มากที่สุด รองลงมา คือ ช่องทางเว็บไซต์ (WWW.1111.go.th) ช่องทางตู้ ปณ. 1111 /ไปรษณีย์/โทรสาร และช่องทางจุดบริการประชาชน 1111 ตามลำดับ

2. จำนวนเรื่องร้องทุกข์จำแนกตามประเภทเรื่อง ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ประชาชนร้องทุกข์และเสนอข้อคิดเห็นในประเภทเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 14,679 เรื่อง โดยประเด็นเรื่องที่ประชาชนร้องทุกข์และเสนอข้อคิดเห็นมากที่สุด ได้แก่ เรื่องขอให้ซ่อมแซมไฟฟ้ากับขยายและติดตั้งปรับปรุงระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้า รองลงมาคือ เหตุเดือดร้อนรำคาญ และร้องเรียนการให้บริการของเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามลำดับ

3. จำนวนเรื่องร้องทุกข์และผลการดำเนินการจำแนกตามหน่วยงาน [ไม่รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และจังหวัด] ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 มีเรื่องร้องทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 6,684 เรื่อง จำแนกเป็นหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ เรียงลำดับจากหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์มากที่สุด 3 ลำดับแรก ดังนี้

3.1 หน่วยงาน ได้แก่

3.1.1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเด็นที่มีการร้องทุกข์มาก ได้แก่ เหตุเดือดร้อนรำคาญจากเสียงและกลิ่นเหม็น และวัยรุ่นมั่วสุม ยาเสพติด บ่อนการพนัน กับการอำนวยความสะดวกในการให้บริการและการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ

3.1.2 กระทรวงสาธารณสุข ประเด็นที่มีการร้องทุกข์มาก ได้แก่ การอำนวยความสะดวกในการให้บริการของบุคลากรทางการแพทย์ และการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ

3.3.3 กระทรวงศึกษาธิการ ประเด็นที่มีการร้องทุกข์มาก ได้แก่ ขอให้ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และส่งเสริมการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสม ขอให้พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินอุดหนุนการศึกษารายบุคคล กับขอให้พิจารณาปรับเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างชั่วคราว

3.2 รัฐวิสาหกิจ ได้แก่

3.2.1 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ประเด็นที่มีการร้องทุกข์มาก ได้แก่ ขอให้พิจารณาเพิ่มจำนวนและขยายเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง กับการอำนวยความสะดวกในการให้บริการของพนักงานขับรถ/พนักงานเก็บค่าโดยสาร

3.2.2. ธนาคารออมสิน ประเด็นที่มีการร้องทุกข์มาก ได้แก่ ขอความช่วยเหลือนำหนี้สินนอกระบบเข้าสู่ระบบของธนาคารออมสิน และขอความอนุเคราะห์อนุมัติสินเชื่อเพื่อนำไปเป็นทุนประกอบอาชีพ

3.2.3 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประเด็นที่มีการร้องทุกข์มาก ได้แก่ ขอให้ขยายเขตการให้บริการไฟฟ้า ขอให้ซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง/เสา/สายไฟฟ้า กับขอให้ตรวจสอบการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง

4. จำนวนเรื่องร้องทุกข์และผลการดำเนินการจำแนกตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และจังหวัดในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 มีเรื่องร้องทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับ อปท. และจังหวัดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 3,662 เรื่อง โดยเรียงลำดับจาก อปท. และจังหวัดที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่

4.1 กรุงเทพมหานคร ประเด็นที่มีการร้องทุกข์มาก ได้แก่ ขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากมลภาวะทางเสียง ฝุ่นละออง ควันไฟ กลิ่นเหม็น ขอให้แก้ไขปัญหาการวางจำหน่ายสินค้า การติดตั้งป้ายโฆษณาบนบาทวิถี และการจอดรถกีดขวางการจราจร ขอให้ปรับปรุงซ่อมแซมถนน สะพานลอย คนเดินข้ามทางม้าลาย และบาทวิถี และติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง ป้ายแสดงสัญลักษณ์การจราจร และขอให้เร่งจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย กรณีซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินที่เสียหายบางส่วนจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท กับขอให้เร่งจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย 5,000 บาท กรณีรายชื่อตกหล่น

4.2 จังหวัดนนทบุรี ประเด็นที่มีการร้องทุกข์มาก ได้แก่ ขอให้แก้ไขปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญจากมลภาวะทางเสียง ฝุ่นละออง กลิ่นเหม็น ขอให้แก้ไขปัญหาการติดตั้งป้ายโฆษณา การวางจำหน่ายสินค้าบนบาทวิถี และการจอดรถกีดขวางการจราจร ขอให้เร่งดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ให้เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ และแจ้งเบาะแสการลักลอบจำหน่ายและเสพยาเสพติด

4.3 จังหวัดปทุมธานี (ประเด็นที่มีการร้องทุกข์มาก ได้แก่ ขอให้เร่งดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ให้เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ ขอให้แก้ไขปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญจากมลภาวะทางเสียง ฝุ่นละออง ควันไฟ กลิ่นเหม็น และแจ้งเบาะแสการลักลอบจำหน่ายและเสพยาเสพติด)

5. จำนวนเรื่องร้องทุกข์และเสนอข้อคิดเห็น เรียงตามลำดับประเด็นเรื่องที่มีการร้องทุกข์ และเสนอข้อคิดเห็นมากที่สุด 0 ลำดับแรก ตามตาราง ดังนี้

ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
ลำดับที่ ประเด็นเรื่อง จำนวนเรื่อง 1 เหตุเดือดร้อนรำคาญ 1,522 2 การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและโครงการของรัฐ 888 3 ไฟฟ้า 815 4 ยาเสพติด 572 5 การบริการขนส่งทางบก 531 6 ถนน 515 7 น้ำประปา 431 8 บ่อนการพนัน 387 9 โทรศัพท์ 361 10 ร้องเรียนการให้บริการของเจ้าหน้าที่รัฐ 348 ในสังกัดกระทรวง

ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ประเด็นเรื่องที่ประชาชนร้องทุกข์และเสนอความคิดเห็นมากที่สุด ได้แก่ เหตุเดือดร้อนรำคาญ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและโครงการของรัฐ และไฟฟ้า

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 สิงหาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ