ร่างปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ของสหประชาชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 20, 2013 16:58 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ของสหประชาชาติ

สำหรับการประชุม Asia-Pacific Ministerial Dialogue: From the Millennium

Development Goals to the United Nations Development Agenda beyond 2015

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ของสหประชาชาติ สำหรับการประชุม Asia-Pacific Ministerial Dialogue: From the Millennium Development Goals to the United Nations Development Agenda beyond 2015

2. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อกฎหมายและผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

3. อนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารตามข้อ 1

สาระสำคัญของเรื่อง

1. การประชุม Asia-Pacific Ministerial Dialogue: From the Millennium Development Goals to the United Nations Development Agenda beyond 2015 ระหว่างวันที่ 26 — 28 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ จะเป็นโอกาสที่ไทยในฐานะสมาชิกคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะแสดงบทบาทนำในการจัดให้มีการหารือระดับนโยบาย และผลักดันประเด็นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย — แปซิฟิก และเป็นโอกาสที่ไทยจะแสดงบทบาทนำและสร้างสรรค์ในเวทีสหประชาชาติในประเด็นด้านการพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของสหประชาชาติ รวมทั้งจะเป็นผลดีต่อการสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของไทยในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ตลอดจนยืนยันถึงความพร้อมและบทบาทไทย ในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่มีความสำคัญ

2. ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วยรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิกเอสแคป 53 ประเทศ และสมาชิกสมทบ 9 เขตการปกครอง โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

3. การรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ เป็นไปเพื่อให้ผลการประชุมครั้งนี้ มีความสมบูรณ์และสะท้อนถึงท่าทีและจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ของรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงของประเทศต่าง ๆ จากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเอกสารดังกล่าวจัดเตรียมโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับเอสแคป นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือและพิจารณาร่างปฏิญญาดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 ที่กระทรวงการต่างประเทศ

4. ร่างปฏิญญากรุงเทพฯ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกที่จะร่วมกำหนดประเด็นทางนโยบายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อเป็นข้อเสนอประกอบการพิจารณาในกระบวนการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติภายหลัง ค.ศ. 2015 โดยไม่ใช้ถ้อยคำที่มุ่งสร้างข้อผูกพันทางกฎหมาย ดังนั้นร่างปฏิญญากรุงเทพฯ จึงไม่ใช่หนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ และไม่มีประเด็นพิจารณาที่จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 สิงหาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ