แผนแม่บทและบรรเทาภัยแล้ง

ข่าวการเมือง Tuesday March 17, 2015 18:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ประธานกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติแผนแม่บทป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแล้งเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการภัยแล้ง และเป็นแผนสนับสนุนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558

2. ให้กระทรวง กรม จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน มูลนิธิ และองค์กรการกุศล ถือปฏิบัติตามแผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนท้องช่วงในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเร็ว ยาวนาน และมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาที่รายงานว่าปริมาณน้ำฝนสะสมปี 2557 ต่ำกว่าค่าปกติอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2556 ประกอบกับกรมชลประทานได้สรุปสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางปี 2557 น้อยกว่าปี 2556 ถึง 5,310 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้จัดทำแผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัยแล้งขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้บริหารจัดการภัยแล้งได้อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ

2. แผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัยแล้งฉบับนี้จะเป็นแผนแม่บทเพื่อจัดการภัยแล้งของประเทศไทยที่สามารถใช้เป็นมาตรการและแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันยิ่งทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายต่อประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยแผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

แผนระยะ 5 ปี ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 19 มาตรการ 49 กิจกรรมหลัก ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเตรียมการป้องกันและลดผลกระทบ ประกอบด้วย 7 มาตรการ 18 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 1 การพัฒนาระบบคาดการณ์และเฝ้าระวังเพื่อการเตือนภัยแล้ง มี 2 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 2 การจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงภัยซ้ำซาก มี 2 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 3 การพัฒนาระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทสเพื่อการจัดการภัยแล้งมี 2 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 4 การสร้างระบบเครือข่ายอาสาสมัครและฐานข้อมูลเครือข่าย มี 1 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 5 การพัฒนาแหล่งน้ำที่เหมาะสมกับสภาพทรัพยากน้ำภูมิประเทศ เศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม (ด้านการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน) มี 5 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 6 การปรับปรุงประสิทธิผลของกลุ่มผู้ใช้น้ำ (ด้านความต้องการน้ำ) มี 3 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 7 การลดผลกระทบและความเสียหายจากปัญหาภัยแล้ง มี 3 กิจกรรมหลัก

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเตรียมพร้อมรับภัย ประกอบด้วย 4 มาตรการ 11 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 1 การเตรียมพร้อมสำหรับการจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งมี 3 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 2 การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแล้งมี 2 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 3 จัดตั้งหน่วยฝึกอบรมและหน่วยบรรเทาทุกข์ให้ความรู้ผู้ประสบภัยแล้งมี 3 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 4 การส่งเสริมการเรียนรู้ในเรื่องการจัดการภัยแล้งในสถานศึกษา สถานประกอบการและพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง มี 3 กิจกรรมหลัก

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการในภาวะฉุกเฉิน ประกอบด้วย 4 มาตรการ 11 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 1 การจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ทุกระดับ มี 4 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 2 การเชื่อมโยงระบบติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานให้ใช้งานได้ตลอดเวลา มี 2 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 3 การสนธิกำลังเข้าช่วยเหลือและควบคุมเหตุการณ์มี 3 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 4 การประชาสัมพันธ์ มี 2 กิจกรรมหลัก

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการหลังการเกิดภัย ประกอบด้วย 4 มาตรการ 9 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 1 การให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้ประสบภัยมี 2 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 2 การรายงานและติดตามประเมินผล มี 3 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 3 การเรียนรู้จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นมี 2 กิจกรรมหลัก

มาตรการที่ 4 การจัดทำแผนที่ฟื้นฟูความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งด้านการมีงานทำ คุณภาพชีวิต และสภาพจิตใจ มี 2 กิจกรรมหลัก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ