แผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558 ของกระทรวงคมนาคม

ข่าวการเมือง Wednesday April 1, 2015 06:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558 ของกระทรวงคมนาคม ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีมีวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวัน ประชาชนนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาและไปท่องเที่ยวจำนวนมาก ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล คค. ได้จัดทำแผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558 โดยจะได้บูรณาการการทำงานร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงมหาดไทย (มท.) หน่วยงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้งภาคธุรกิจและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยแผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558 มีระยะเวลาดำเนินการ วันที่ 9-19 เมษายน 2558 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. วัตถุประสงค์

1.1 เพื่อให้การจัดบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายคมนาคมสามารถรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558 อย่างเพียงพอ โดยมี “ความสุข สะดวก และปลอดภัย”

1.2 เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่เดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558

1.3 เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายคมนาคม รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

1.4 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยหน่วยงานในสังกัด คค. ร่วมบูรณาการบริหารจัดการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์

2. เป้าหมาย

2.1 การบริการที่ดี โดยจัดบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายคมนาคมรองรับการเดินทางของประชาชนทั้งไปและกลับอย่างเพียงพอ ไม่ล่าช้า และไม่มีผู้โดยสารตกค้าง

2.2 การเดินทางที่มีความปลอดภัย โดยจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากการเดินทางของประชาชนบนโครงข่ายคมนาคมลดลงให้เหลือน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2557

2.3 ผู้ประจำรถโดยสารสาธารณะและคนประจำเรือโดยสารจะต้องมีเวลาพักผ่อนเพียงพอและไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระหว่างการให้บริการ โดยมีระดับแอลกอฮอล์เป็นศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เป็นจำนวนร้อยละ 100 อีกทั้งจำนวนอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตจากการขนส่งสาธารณะทั้งทางบก (รถโดยสารสาธารณะ) ทางน้ำ (เรือโดยสาร) ทางอากาศ (เครื่องบินโดยสาร) และทางราง (รถไฟและรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน) ต้องเป็นศูนย์

2.4 การบริหารจัดการสถานการณ์ ประสานการปฏิบัติงานอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน เพื่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์

3. แผนอำนวยความสะดวก

3.1 การให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ หน่วยงานในสังกัด คค. จัดให้มีบริการขนส่งสาธารณะโดยเตรียมและเพิ่มจำนวนรถโดยสารประจำทาง/ไม่ประจำทาง เพิ่มจำนวนตู้โดยสารรถไฟและเที่ยววิ่ง เพิ่มเที่ยวบินเสริมพิเศษ ตลอดจนการให้บริการที่สถานี ท่าเรือ และท่าอากาศยาน เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางระหว่างวันที่ 9 – 19 เมษายน 2558 จำนวน 319,224 เที่ยว ผู้โดยสารจำนวน 24.03 ล้านคน – เที่ยว แบ่งเป็นการให้บริการในกรุงเทพมหานคร 17.28 ล้านคน – เที่ยว และการเดินทางไปต่างจังหวัด 6.75 ล้านคน – เที่ยว

3.2 การอำนวยความสะดวกด้านโครงข่ายถนน

3.2.1 ยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาจราจรบริเวณหน้าด่าน

1) กรมทางหลวง ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ – ชลบุรี) และหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 10 เมษายน 2558 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 19 เมษายน 2558

2) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา – ชลบุรี) ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 10 เมษายน 2558 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 19 เมษายน 2558

3.2.2 การตรวจสอบทางกายภาพ

1) ตรวจสอบ/แก้ไข/ปรับปรุงถนน/สะพาน ในความรับผิดชอบให้สะดวกและปลอดภัย มีเครื่องหมาย/อุปกรณ์จราจรครบถ้วน

2) หยุดดำเนินการก่อสร้าง/ซ่อมแซมถนนและสะพาน พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องหมายเตือน ป้ายแนะนำ และไฟสัญญาณเป็นระยะ ๆ ให้ชัดเจน

3.3 จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าเรือ/สถานีขนส่ง/ท่าอากาศยานและอาคารผู้โดยสาร/สถานีรถไฟ/สถานีรถไฟฟ้า/ทางพิเศษ

3.3.1 จัดเตรียมพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวกและเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้มีความพร้อมรองรับปริมาณการใช้บริการของประชาชนรวมทั้งเข้มงวดเรื่องความสะอาดของห้องน้ำภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร และต้องจัดให้มีที่จอดรถจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย และเพียงพอ

3.3.2 จัดเตรียมความพร้อมของช่องเก็บเงินค่าผ่านทางเพื่อให้สามารถเปิดใช้ได้ทุกช่องทางและจัดพนักงานเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษให้เพียงพอกับช่องเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษ

3.3.3 ประสานรวบรวมและจัดทำข้อมูลปริมาณเที่ยวบิน เพื่อการประเมินสถานการณ์และแนวโน้มผลกระทบต่อการให้บริการจราจรทางอากาศ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกข้อมูลสภาพการจราจรทางอากาศและข่าวสารของเครื่องบินแก่ผู้ใช้บริการตามที่มีการร้องขอ เพื่อทำให้ภาพรวมการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

4. แผนอำนวยการด้านความปลอดภัย

4.1 การแก้ไขปัญหาทางกายภาพ โดยเพิ่มมาตรการตรวจสอบปรับปรุง เพิ่มเติมระบบอำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน เช่น สภาพทางกายภาพของโครงข่ายคมนาคม สัญญาณไฟจราจร เครื่องหมายจราจร จุดตัดทางรถไฟ จุดกลับรถ ทางข้าม ป้ายจราจร เครื่องหมายควบคุมการจราจร ไฟฟ้าแสงสว่างและไฟกระพริบ เป็นต้น

4.2 การตรวจความพร้อมของยานพาหนะและอุปกรณ์ ในระบบขนส่งสาธารณะให้พร้อมใช้งานได้ทุกเวลา ทั้งนี้ จัดให้มีจุดบริการตรวจสภาพก่อนเดินทางและระหว่างเดินทาง

4.3 การให้บริการตรวจรถก่อนใช้ เดินทางปลอดภัย กรมการขนส่งทางบกร่วมกับสถานศึกษาให้บริการตรวจรถก่อนใช้เดินทางปลอดภัย จำนวน 250 แห่ง และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัด คค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตั้งจุดตรวจสอบความพร้อมของรถโดยสารจำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น กำแพงเพชร พิษณุโลก ลำปาง ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และระยอง ซึ่งครอบคลุมทุกภาคของประเทศ

5. ศูนย์ประสานงานและการกำกับดูแล คค. ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการ ศูนย์ปฏิบัติการ และจุดตรวจเพื่อประสานการปฏิบัติงานกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน มท. และหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้

5.1 ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม เป็นศูนย์บัญชาการสำหรับผู้บริหารระดับสูงของ คค. เพื่อบริหารจัดการและสั่งการในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ มีการประสานการปฏิบัติงาน ผ่านระบบโทรศัพท์สายด่วน (Call Canter) หมายเลข 1356

5.2 ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงคมนาคม (M0TOC) เป็นศูนย์เพื่อทำการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะและรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุ (ระบบTRAMS) พร้อมทั้งรับรายงานจากศูนย์ปลอดภัยคมนาคม

5.3 ศูนย์บัญชาการกรมทางหลวง จำนวน 124 แห่ง สำนักบริหารบำรุงทาง 1 แห่ง ศูนย์อำนวยการสำนักงานทางหลวง 18 แห่ง และศูนย์ปฏิบัติการแขวงทางหลวง/สำนักงานบำรุงทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 105 แห่ง และตั้งจุดให้บริการทั่วไทยบนโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน จำนวน 200 แห่ง โดยทุกจุดให้บริการมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมให้บริการประชาชน

5.4 ศูนย์บัญชาการกรมทางหลวงชนบท จำนวน 19 แห่ง สำนักอำนวยความปลอดภัย 1 แห่ง ศูนย์อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบท 18 แห่ง พร้อมชุดเคลื่อนที่เร็ว และตั้งจุดให้บริการทั่วไทยบนโครงข่ายทางหลวงชนบท จำนวน 95 แห่ง โดยทุกจุดให้บริการมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมให้บริการประชาชน

5.5 จุดตรวจกรมการขนส่งทางบก จำนวน 310 แห่ง เพื่อตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารบริเวณสถานีขนส่ง สำนักงานขนส่ง จุดจอดและสถานประกอบการ

5.6 การกำกับดูแลติดตามสถานการณ์เชิงพื้นที่ โดยผู้บริหารระดับสูงของ คค. ซึ่งแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ ดังนี้

5.6.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับผิดชอบพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งภาคเหนือ

5.6.2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

5.6.3 ปลัดกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง

5.6.4 รองปลัดกระทรวงคมนาคมของผู้ตรวจราชการ คค. รับผิดชอบพื้นที่ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้

6. การรายงานผลการปฏิบัติและการประเมินผล

6.1 ช่วงเทศกาล ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถิติการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และสถิติอุบัติเหตุ มายังศูนย์ปลอดภัยคมนาคม ภายในเวลา 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้นเป็นประจำทุกวันตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ

6.2 ช่วงหลังเทศกาล ภายหลังเสร็จสิ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2558 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมมีการประมวลสรุปผลการปฏิบัติงาน พร้อมข้อเสนอแนะรายงานเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ