ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Monday April 20, 2015 17:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ทั้งนี้ ให้ พม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนัยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ด้วย โดยให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและจัดระเบียบขอทานให้แล้วเสร็จ เพื่อลดอัตราคนขอทานในประเทศไทย โดยเน้นให้คนขอทานมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ให้ พม.รับไปพิจารณาศึกษาบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือบุคคลผู้ที่ทำการขอทานเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้เจ็บป่วย ซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพได้ คนไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดูและไม่มีทางเลี้ยงชีพอย่างอื่น หรือผู้ซึ่งอยู่ในสภาวะยากลำบากให้พ้นสภาพจากการเป็นคนขอทาน และดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถกลับมาดำรงชีพในสังคมได้ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน แล้วแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการขอทานพุทธศักราช 2484

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนด และให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการและให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

3. กำหนดห้ามมิให้บุคคลใดทำการขอทาน และกำหนดให้การกระทำดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการขอทาน

3.1 การขอทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยวาจา ข้อความ หรือแสดงกิริยาอาการใด ๆ หรือด้วยวิธีการใด ๆ ทั้งนี้ โดยมิได้มีการตอบแทนด้วยการทำงานอย่างใด หรือด้วยทรัพย์สินใดแต่ไม่รวมถึงการขอกันญาติมิตร หรือการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร

3.2 การกระทำใดเพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและมอบทรัพย์สินให้ โดยมิได้มีการตอบแทนด้วย การทำงานอย่างใดหรือด้วยทรัพย์สินใด

4. กำหนดให้การเล่นดนตรีหรือการแสดงความสามารถอื่นใดในที่สาธารณะโดยขอรับทรัพย์สินตามแต่ผู้ชมหรือผู้ฟังจะสมัครใจให้ มิให้ถือว่าเป็นการขอทานแต่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด

5. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งตัวผู้ที่ทำการขอทานเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้เจ็บป่วยซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพได้ คนไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดูและไม่มีการเลี้ยงชีพอย่างอื่น หรือผู้ซึ่งอยู่ในสภาวะยากลำบากไปรับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์และให้พ้นความผิด

6. กำหนดให้สถานสงเคราะห์พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะกับผู้ที่ทำการขอทานซึ่งเป็นบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะบังคับอยู่แล้ว เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์ของผู้ทำการขอทาน สถานสงเคราะห์จะไม่ดำเนินการตามกฎหมายและรับตัวผู้ที่ทำการขอทานนั้นไว้ในความดูแลต่อไปก็ได้

7. กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำการขอทาน ผู้ที่ถูกส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์ซึ่งไม่ไปหรือหลบจากสถานสงเคราะห์ ผู้ที่ช่วยเหลือผู้ที่ถูกส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์หรือผู้ที่อยู่สถานสงเคราะห์ให้หลบหนี และผู้ใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือกระทำด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้อื่นขอทาน หรือนำบุคคลอื่นมาใช้ประโยชน์ในการขอทานของตน

8. กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่เล่นดนตรีหรือแสดงความสามารถอื่นใดในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้ที่เล่นดนตรีหรือแสดงความสามารถในที่สาธารณะซึ่งได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือระเบียบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด และผู้ซึ่งไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ