สถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 ครั้งที่ 1

ข่าวการเมือง Tuesday November 24, 2015 18:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 ครั้งที่ 1 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. ได้รายงานสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2558/59 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ถึง 30 เมษายน 2559 เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับทราบและเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ข้อขัดแย้งของกลุ่มผู้ใช้น้ำในภาคส่วนต่าง ๆ หากมีการใช้น้ำไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. สถานการณ์น้ำ

1.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ จำนวน 33 แห่ง ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 มีปริมาตรน้ำรวม 41,027 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของปริมาตรน้ำกักเก็บทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 17,524 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของปริมาตรน้ำใช้การทั้งหมด

1.2 อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558

1.2.1 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาตรน้ำใน 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำนวน 10,935 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของปริมาตรน้ำกักเก็บทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 4,239 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของปริมาตรน้ำใช้การทั้งหมด

1.2.2 ลุ่มน้ำแม่กลอง มีปริมาตรน้ำใน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ์ จำนวน 18,483 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 ของปริมาตรน้ำกักเก็บทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 5,206 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของปริมาตรน้ำใช้การทั้งหมด

1.3 แหล่งน้ำอื่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558

แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ทั้งประเทศ จำนวน 352,528 บ่อ ความจุรวม 352 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาตรน้ำรวม 211 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุทั้งหมด

2. มาตรการควบคุมการใช้น้ำ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2558/59 ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ตามแผนที่วางไว้ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้

1) ประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะเปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ สำหรับอาคารเชื่อมต่อที่ดูแลโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ดำเนินการตามปฏิทินการรับน้ำที่ได้เสนอกรมชลประทานในการวางแผนรอบเวรการจัดสรรน้ำไว้แล้ว

2) ลำน้ำหรือคลองส่งน้ำ ที่มีความจำเป็นต้องรับน้ำเข้าเพื่อรักษาเสถียรภาพ ของตลิ่งลำน้ำ ให้รับน้ำเข้าในเกณฑ์ต่ำสุด ตามแผนการรับน้ำที่กรมชลประทานกำหนดไว้

3) ขอความร่วมมือ ไม่ให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก และขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกร ทำการปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกเช่นกัน ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดมีความจำเป็นจะต้องสูบน้ำเพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ให้ดำเนินการตามปฏิทินการสูบน้ำที่ได้เสนอกรมชลประทาน ในการวางแผนรอบเวรการสูบน้ำไว้แล้ว

4) สถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่นสามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติ ตามแผนการสูบน้ำที่ได้เสนอกรมชลประทานไว้แล้ว

5) ลดการเพาะเลี้ยงในบ่อปลา บ่อกุ้ง เขตโครงการชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีนและในระบบชลประทาน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 3๐ เมษายน 2559

6) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลอง และแหล่งน้ำต่าง ๆ เนื่องจากทำให้ต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่ต้องสำรองไว้ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศตลอดฤดูแล้งนี้และต้นฤดูฝนหน้า

สำหรับความต้องการใช้น้ำ 1,518 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนพื้นที่ปลูกข้าวนาปีและนาปีต่อเนื่องนั้น จากการประเมินปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันของเขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง ที่มีอยู่อย่างจำกัด กรมชลประทาน จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม โดยจะส่งน้ำเฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ไม่สามารถสนับสนุนพื้นที่ปลูกข้าวได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2558/59 จะติดตามและบริหารสถานการณ์ โดยศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งระดับชาติ (ศก.กช.) และศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งระดับจังหวัด (ศก.กจ.)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ