ร่างพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday February 2, 2016 18:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ

1. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

2. กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ การเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทวัตถุออกฤทธิ์ การควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ การกำหนดวัตถุออกฤทธิ์บางประเภทที่ต้องมีการควบคุมเฉพาะ การกำหนดเพื่อเพิกถอนทะเบียนวัตถุตำรับ การควบคุมปริมาณของวัตถุออกฤทธิ์ ด่านตรวจสอบวัตถุออกฤทธิ์ และการกำหนดหน่วยงานของรัฐ สถานพยาบาลและกำหนดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการควบคุมการบำบัดรักษาและระเบียบวินัยสำหรับสถานพยาบาล

3. กำหนดให้มีคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทโดยให้คณะกรรมการมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

4. กำหนดหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ในแต่ละประเภท

5. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตและเภสัชกรมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

6. กำหนดห้ามการผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ปลอม วัตถุออกฤทธิ์ผิดมาตรฐาน วัตถุออกฤทธิ์เสื่อมคุณภาพ วัตถุออกฤทธิ์ที่มิได้ขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับและวัตถุออกฤทธิ์ที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนวัตถุตำรับ และห้ามขายวัตถุออกฤทธิ์โดยจัดเป็นชุดไว้ล่วงหน้า

7. กำหนดให้ผู้ที่จะผลิตหรือนำเข้าวัตถุตำรับที่มีวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 3 หรือประเภท 4 ผสมอยู่ต้องขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับมีอายุ 5 ปี

8. กำหนดห้ามการโฆษณาวัตถุออกฤทธิ์ ยกเว้นในกรณีเป็นฉลากหรือเอกสารกำกับวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งอยู่ที่ภาชนะหรือหีบห่อ และในกรณีเป็นการโฆษณาที่กระทำโดยตรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพที่กำหนดซึ่งการโฆษณาต้องได้รับอนุญาตก่อน

9. กำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบสถานที่ทำการของผู้รับอนุญาต ตรวจค้นเคหสถาน บุคคลหรือยานพาหนะ ยึดหรืออายัดวัตถุออกฤทธิ์ นำวัตถุออกฤทธิ์เพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจสอบหรือวิเคราะห์

10. กำหนดให้ผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต

11. กำหนดมาตรการควบคุมพิเศษในการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ เช่น กำหนดให้วัตถุตำรับที่มีวัตถุออกฤทธิ์ประเภทใดประเภทหนึ่งผสมอยู่ ให้ถือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทนั้นด้วย ในกรณีที่วัตถุตำรับมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทต่างกันมากกว่าหนึ่งประเภทผสมอยู่ ให้ถือว่าวัตถุตำรับนั้นเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดที่สุด กำหนดห้ามกรณีมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท เว้นแต่ได้รับอนุญาตกำหนดเรื่องการเสพวัตถุออกฤทธิ์

12. กำหนดให้การนำเข้าหรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ นอกจากจะได้รับใบอนุญาตผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกแล้ว ผู้รับอนุญาตจะต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวทุกครั้งที่นำเข้าหรือส่งออกด้วย และกำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านวัตถุออกฤทธิ์ในแต่ละประเภท

13. กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับคำขอ การดำเนินกิจการของผู้รับอนุญาตคณะกรรมการ และกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เพื่อความต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมาย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ