ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday May 10, 2016 17:49 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการปรับปรุงการยกเว้นเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบหลักการปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน

2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

กค. เสนอว่า

1. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 ได้ตราขึ้น เนื่องจากเมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 เพื่อจัดเก็บภาษีจากการรับมรดก แต่ประมวลรัษฎากรยังคงยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ทำให้ไม่สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีจากการรับมรดก จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้สอดรับกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดกดังกล่าว

2. พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 ได้เพิ่มเติมบทบัญญัติ สำหรับการยกเว้นภาษีจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส และการให้อสังหาริมทรัพย์ที่ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดกมีดังนี้

2.1 มาตรา 42 (26) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดย ไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

2.2 มาตรา 42 (27) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดานหรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

3. ในการให้อสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 ทวิ กำหนดให้การโอน กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้ถือว่าผู้โอนเป็นผู้มีเงินได้ ซึ่งต่างจากกรณีเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หา ที่ถือว่าผู้รับเงินจากอุปการะหรือให้โดยเสน่หานั้นเป็นผู้มีเงินได้ ซึ่งในกรณีนี้โดยผลของกฎหมายทำให้เมื่อมีการรับเงินเพื่อการอุปการะหรือโดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดานหรือคู่สมรส ผู้ได้รับเงินจะได้รับการยกเว้นเงินได้ 20 ล้านบาทจากผู้ให้แต่ละคน แต่หากเป็นกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ว่าจะมีการโอนให้กับผู้รับซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายกี่คนก็ตาม ผู้โอนหรือบุพการีจะได้รับการยกเว้นเงินได้เพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น

4. ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้จาก การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมมีความสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดานหรือคู่สมรส ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 จึงต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 และทำให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้เสียภาษีที่มีบุตรคนเดียวหรือบุตรหลายคน นอกจากนี้ อาจมีผลกระทบต่อรายได้ของภาครัฐบาลเล็กน้อย แต่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมและความสมัครใจในการเสียภาษี ทำให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างรายได้ในระยะยาวต่อไป

สาระสำคัญของเรื่องเป็นการปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อบุตรหนึ่งคนตลอดปีภาษี โดยให้คิดเฉพาะเงินได้ที่ได้รับมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤษภาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ