ขออนุมัติการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่ประสบภัยแล้งปี 2559

ข่าวการเมือง Tuesday July 5, 2016 18:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่ประสบภัยแล้ง ปี 2559 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า

คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนไม้ผลที่ประสบภัยแล้งปี 2559 ให้สามารถฟื้นฟูการผลิตไม้ผลที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีแนวทางปฏิบัติต่อสวนไม้ผลเพื่อประกอบอาชีพชาวสวนผลไม้ได้อย่างยั่งยืน โดยมาตรการช่วยเหลือมี 4 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้เดิมของเกษตรกร ออกไปเป็นระยะเวลา 2 ปี นับถัดจากงวดชำระเดิม และลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรอัตราร้อยละ 3 ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรให้ ธ.ก.ส. ในวงเงินกู้รายละไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลา 2 ปี ให้ช่วยเหลือเกษตรกรทั้งหมด จำนวนเป้าหมาย 95,000 ราย

2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลงทุนสร้างแหล่งน้ำสำรองและการบริหารจัดการน้ำ รายละไม่เกิน 130,000 บาท โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR-2 (ปัจจุบัน MRR=7) และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกรอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีแรก โดยให้เกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 เป็นเวลา 3 ปี และช่วยเหลือเกษตรกรทั้งหมด จำนวนเป้าหมาย 95,000 รายสำหรับกำหนดชำระคืน และหลักประกันเงินกู้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธ.ก.ส. กำหนด ทั้งนี้ การดำเนินการในมาตรการนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่เคยได้รับการสนับสนุนด้านแหล่งน้ำที่ทางราชการดำเนินการให้มาก่อน

3. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปลูกทดแทนไม้ผลชนิดเดิมหรือปรับเปลี่ยนไม้ผลชนิดอื่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อัตราไร่ละไม่เกิน 10,000 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ให้แก่เกษตรกรประเภทเสียหายสิ้นเชิงที่เข้าร่วมโครงการให้ช่วยเหลือเกษตรกรทั้งหมด 11,600 ราย โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR-2 (ปัจจุบัน MRR=7) และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกรอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 4 ปีแรก สำหรับกำหนดชำระคืน และหลักประกันเงินกู้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธ.ก.ส. กำหนด

4. มาตรการให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องการผลิตไม้ผลคุณภาพดี การบริหารจัดการการผลิต และการตลาด ตลอดจนถึงระบบโลจิสติกส์ ให้ดำเนินการกับเกษตรกรเต็มจำนวนเป้าหมายทั้งหมด (95,000 ราย) ทั้งประเภทเสียหายสิ้นเชิงและประเภทได้รับผลกระทบพื้นที่ดำเนินการ 35 จังหวัด มีดังนี้

ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดอ่างทอง

ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด

ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์

ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดตาก จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดลำพูน จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์

ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดชุมพร จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดพัทลุง จังหวัดยะลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสตูล และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 กรกฏาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ